ทั่วโลกวิจารณ์กรณีบาทหลวงชื่อดังลวนลามอาริอานา กรานเด ในพิธีศพของราชินีเพลงโซลผู้ล่วงลับ บทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่มีที่ที่ปลอดภัยจากการถูกคุกคามของผู้หญิง ไม่ว่าเธอคนนั้นจะมีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลมากเท่าใดก็ตาม
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามีการจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ให้กับการจากไปของราชินีเพลงโซลอย่าง อารีธา แฟรงคลิน หลังจากที่เธอล้มป่วยลงอย่างหนักและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่อาการไม่ดีขึ้นแพทย์ได้อนุญาตให้แฟรงคลินกลับไปยังบ้านพักที่เมืองดีทรอยต์ เพื่อให้เธอได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกับครอบครัวก่อนจะจากไปอย่างสงบช่วงกลางเดือนสิงหาคมด้วยวัย 76 ปี
สำนักข่าว CNN รายงานว่า ในพิธีศพของอารีธา แฟรงคลิน ซึ่งจัดขึ้นที่โบสถ์เกรทเธอร์เกรซในเมืองดีทรอยต์ มีทั้งครอบครัว เพื่อน แฟนเพลง นักการเมือง และคนดังในวงการเพลงมาร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายกันอย่างคับคั่ง หนึ่งในนั้นคือนักร้องหญิงชื่อดังระดับโลกอย่างอาริอานา กรานเด ที่ได้รับเชิญให้ขึ้นร้องเพลง (You Make Me Feel Like) A Natural Woman เพื่อสดุดีแฟรงคลิน
แทนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะได้รับการจดจำในภาพที่สวยงามตามที่ควรจะเป็น กลับกลายเป็นว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับอาริอานาได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก เนื่องจากในช่วงที่ได้ให้สัมภาษณ์กับบาทหลวงชาร์ล เอช เอลลิส ที่ 3 ผู้ทำหน้าที่บาทหลวงในงานศพของนักร้องดัง เขาได้เอาแขนขวามาโอบตัวอาริอานาไว้ พร้อมดึงเข้าหาตัวต่อหน้าคนทั้งงาน เท่านั้นไม่พอ บาทหลวงชาร์ลได้พยายามเอามือขวาที่โอบหลังของนักร้องสาวอยู่นั้นขยับเข้าไปใกล้กับหน้าอกของเธอ โดยไม่คิดว่าภาพวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนมาก
แน่นอนว่าสีหน้าท่าทางของอาริอานาแสดงออกถึงความอึดอัดและกระอักกระอ่วนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก แต่เธอก็ยังรับมือกับสถานการณ์ได้ดีและก้าวผ่านความอึดอัดไปได้ในที่สุด โดยไม่ทำให้เหตุการณ์ย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
หลังจากที่มีกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง บาทหลวงชาร์ลได้ออกมาขอโทษ โดยกล่าวกับสำนักข่าว AP ว่า “ผมไม่รู้จริง ๆ ผมอาจจะเอาแขนโอบตัวเธอ ผมอาจจะทำเกินขอบเขต บางทีผมอาจจะเคยชินหรือแสดงความเป็นมิตรมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอโทษอีกครั้งหนึ่ง” แต่ถึงจะออกมากล่าวขอโทษแล้วนั้นก็ไม่ทำให้ชาวเน็ตลดดีกรีความรุนแรงของการวิจารณ์ลงแม้แต่น้อย
ผู้สื่อข่าว CNN ยังระบุอีกด้วยว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าอาริอานาต้องรู้สึกแย่มากแค่ไหนตลอดช่วงเวลาของการให้สัมภาษณ์บนเวทีภายหลังการแสดงสดของเธอ เธอต้องทนกัดฟันสู้กับความกลัวต่อการถูกลวนลามต่อหน้าคนทั้งโลก ต้องเผชิญกับความจำเป็นที่จะต้องรักษาสถานการณ์เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับพิธีสดุดี แม้ว่าภายในใจเธออยากจะกรีดร้องออกมาก็ตาม โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความคาดหวังของวัฒนธรรมและบทบาททางสังคม
การรับรู้เรื่องราวการลวนลามทางเพศต่อหน้าสาธารณชนโดยบาทหลวงซึ่งกำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ภายในศาสนสถานเช่นนี้ เป็นสิ่งย้ำเตือนใจที่ดีและชัดเจนอย่างมากว่าผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะมีอิทธิพลหรือมีชื่อเสียงมากแค่ไหนก็ไม่ได้รับสิทธิด้านความปลอดภัยในที่สาธารณะเทียบเท่ากับผู้ชาย ซึ่งแน่นอนว่าอาริอานาไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกที่ถูกลวนลามในงานพิธีศพอย่างแน่นอน
โซฟี เซนต์ โทมัส นักเขียนอิสระชื่อดังชาวอเมริกันให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าการรับชมการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่อาริอานาถูกลวนลามผ่านทางโทรทัศน์ทำให้เธอนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือเมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ยายของเธอเพิ่งจะเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง โดยในงานศพที่จัดขึ้นหลังจากการขึ้นกล่าวคำสดุดีและไว้อาลัยให้กับยายของเธอ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาทักทายและชื่นชมว่าเธอสวย ก่อนจะเอาแขนมาโอบตัวเธอแล้วเลื่อนลงไปจับที่ก้นของโซฟี ในเวลานั้นเธอตัวแข็งทื่อไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร ไม่รู้ว่าจะโวยวายหรือไปเรียกร้องอะไรในงานที่ทุกคนกำลังโศกเศร้ากันเช่นนี้ และสุดท้ายเธอก็ได้แต่นั่งเงียบอยู่คนเดียวตลอดทั้งงาน
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอาริอานา กรานเด และโซฟี ไม่ได้เผชิญกับการถูกคุกคามทางเพศเพียงลำพังในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าอย่างมากว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของหญิงที่ถูกคุกคามทางเพศมักจะปิดปากเงียบเพราะกลัวว่าเมื่อบอกไปแล้วจะไม่มีใครเชื่อ และที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็คือสถานการณ์บ้านเมืองในสหรัฐฯ ตอนนี้ที่ไม่เข้าข้างเหยื่ออย่างพวกเธออย่างมาก ดูได้จากตัวผู้นำประเทศเองที่มีข่าวอื้อฉาวเรื่องการคุกคามทางเพศและยังกล่าวล้อเลียนความเคลื่อนไหวของกระแส #MeToo ของสตรีทั้งประเทศที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการคุกคามทางเพศอีกด้วย
ส่วนผู้หญิงที่กล้าพอที่จะยืดอกรับความจริงและออกมาแสดงตัวว่าพวกเธอเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศก็มักจะต้องเผชิญกับชะตากรรมของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การต่อว่าจากสังคม และถึงขั้นถูกทำร้ายเลยก็มี