การแต่งงานเป็นการเฉลิมฉลองที่เจ้าของงานมักทุ่มเทจัด โดยใช้เหตุผลว่าเป็น 'ครั้งเดียว' ในชีวิต แต่การเฉลิมฉลองที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลจีน ที่ล่าสุดออกมาต่อต้านงานแต่งงานหรูหรา เพราะถือว่าขัดต่อหลักการของสังคมนิยม และความเป็นประเทศจีน
สำนักข่าว เดอะ เทเลกราฟ ของอังกฤษ เพิ่งรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนหยุดการฉลองแต่งงานอย่างหรูหรา หลังพบเห็นเป็นเทรนด์ได้อยู่ทั่วไปในระยะหลัง และงานแต่งงานหรูหราก็กำลังเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยรัฐบาลระบุว่า ความหรูหราฟุ่มเฟือยเช่นนี้ขัดต่อหลักการสังคมนิยม ซึ่งเป็นค่านิยมที่ดีงามของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนได้ออกมาประณามการจัดพิธีแต่งงานใหญ่โตและการให้ของขวัญราคาแพงต่อกัน โดยชี้ว่าการแต่งงานควรเป็นการแสดงถึงการผนวกรวมคุณค่าตามแบบสังคมนิยมและวัฒนธรรมจีนเข้าสู่ครอบครัว
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงกิจการพลเรือนยังได้เน้นย้ำระหว่างการประชุมหารือว่าด้วยการปฏิรูปการแต่งงานด้วยว่า วิสัยทัศน์การสร้างประเทศของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างครอบครัว โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นจะต้องเตรียมรับแนวทาง และข้อกำหนดเกี่ยวกันความเหมาะสมในการจัดพิธีแต่งงานในเร็ว ๆ นี้
เดอะ เทเลกราฟ รายงานว่า สำหรับในประเทศจีนแล้ว งานแต่งงานถือเป็นโอกาสในการแสดงออกถึงความร่ำรวยของครอบครัวหนึ่ง ๆ เนื่องจากในวัฒนธรรมจีนนั้น ผู้คนมักจะ 'รักษาหน้า' (Saving Face) เมื่อต้องเข้าสังคม นั่นคือ ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใด เมื่อจัดงานฉลองก็ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมการฉลองอย่างหรูหราจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อ ๆ กันมา
ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามเข้าแทรกแซงความหรูหราเช่นนี้มาหลายปี เริ่มตั้งแต่การจัดงานศพอย่างหรูหรา ซึ่งบางครอบครัวเลือกที่จะเป็นหนี้เป็นสินเพื่อทำพิธีอำลาสมาชิกในครอบครัวอย่างมั่งคั่งและสมบูรณ์ที่สุด โดยพบว่าบางครอบครัวมีการจ้างทีม 'นางร้องไห้' มาไว้อาลัยเป็นการเฉพาะ หรือบางครอบครัวก็เน้นความบันเทิงสุดโต่ง เช่น การจ้างนักเต้นเปลื้องผ้ามาร่วมพิธี จนมาล่าสุด รัฐบาลก็เลือกที่จะปราบปรามงานแต่งงานหรูหรา
ปีที่แล้ว เขตปกครองหนึ่งในจีนรับมอบนโยบายนำร่อง โดยการประกาศข้อจำกัดในพิธีแต่งงาน ตั้งแต่การจำกัดจำนวนแขกที่มาร่วมงาน ที่ต้องน้อยกว่า 10 โต๊ะ และไม่เกิน 200 คน ขณะที่ มูลค่าของขวัญในงานต้องมาราคาต่ำกว่า 60,000 หยวน หรือราว 285,000 บาท โดยห้ามให้บ้านหรือรถยนต์เป็นของขวัญ
การเข้าแทรกแซงการเฉลิมฉลองเช่นนี้ มาในหลากหลายรูปแบบ และในบางกรณีก็เพ่งเล็งที่ 'ราคาเจ้าสาว' ที่สูงเกินจริง โดยภายใต้นโยบายลูกคนเดียวของจีนที่ดำเนินมาในช่วงก่อนหน้านี้ นาน 4 ทศวรรษ ทำให้คนจีนต้องการมีแต่ลูกชาย และมีประชากรชายมากเกินประชากรหญิง ทำให้จำนวนเจ้าสาวในรุ่นนี้น้อยและถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ 'หายาก' นำไปสู่การตั้งราคาเจ้าสาว และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายงานแต่งงานอีกทางหนึ่ง
ปีที่แล้ว เมืองเติ้งโจว ในจังหวัดเหอหนาน พยายามริเริ่มแนวทางการลดทอนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านี้ โดยการตั้งเพดานราคาเจ้าสาวที่ 30,000 หยวน หรือ 142,000 บาท
ในบทความของ เดอะ เทเลกราฟ ได้กล่าวถึงค่าใช้จ่ายก้อนนี้ว่าเป็น reverse dowries หรือ สินสอดแบบกลับตาลปัตร ซึ่งมักรวมเงินสดสำหรับครอบครัวเจ้าสาวและตัวเจ้าสาวเข้ากับราคาของการจัดงานแล้ว โดยพบรายงานว่า ค่าใช้จ่ายก้อนนี้มักพุ่งสูงในเขตชนบท เนื่องจากสัดส่วนประชากรชายหญิงแตกต่างกันกว่าในเขตเมืองมาก
นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว รัฐบาลจีนยังหวังจะปฏิรูปธรรมเนียมการ 'อำ' เจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย โดยแต่เดิมธรรมเนียมนี้มีขึ้นเพื่อขับไล่วิญญาณร้ายจากครอบครัว และช่วยให้คู่บ่าวสาวผ่อนคลาย แต่ธรรมเนียมดังกล่าวเริ่มจริงจังและรุนแรงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ เพราะผู้ร่วมงานกลับเน้นให้บ่าวสาวอับอายหรือเจ็บตัวมากขึ้น
เมื่อสัปดาห์ก่อน มีรายงานว่าเจ้าบ่าวคนหนึ่งถูกรถชน ขณะพยายามหลบหนีออกจากงานสละโสด ที่มีทั้งการจับมัดและทุบตี ขณะที่เมื่อปีก่อน กลุ่มเพื่อนเจ้าสาวกลุ่มหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บจากกระจกแตก เพราะกลุ่มเพื่อนเข้าบ่าวพยายามพังประตูเข้าไป
การพยายามยับยั้งเหตุรุนแรงดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่สุดในรายงานนี้ แต่สุดท้ายแล้ว เราควรต้องตั้งคำถามว่า การจัดพิธีใด ๆ ควรเป็นสิทธิของผู้จัดงานหรือไม่ และประเทศจีน ที่เลือกใช้เศรษฐกิจแบบเสรี ควรจะมองการจัดงานเหล่านี้ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าในเชิงสังคมหรือไม่