หลังจากที่ประเทศไทยประกาศห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้าไขมันทรานส์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช ้ในเดือนมกราคมปีหน้า ช่วงนี้มาคุยกันว่าในระดับโลก แคมเปญในลักษณะเดียวกันก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว และประเทศไหนน่าเป็นห่วงที่สุด
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยเปิดเผยข้อมูลประมาณการว่าในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจกว่า 500,000 คน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคนี้คือการบริโภคอาหารที่เร่งให้เกิดอาการ เช่น ไขมันทรานส์ ทำให้ในที่สุด เมื่อเดือนพฤษภาคม WHO ได้ประกาศแนวทางลด-ละ-เลิก การผลิตสินค้าที่มีไขมันทรานส์ในระดับอุตสาหกรรม ให้ได้ทั่วโลก ภายในปี 2023 หรือราว 5 ปีข้างหน้าเท่านั้น นำไปสู่คำถามที่ว่า ประเทศใดบ้างที่จะทำสำเร็จ และประเทศใดจะประสบปัญหา
ไขมันทรานส์ หรือ Trans Fat ไขมันแบบไม่อิ่มตัวที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปโดยการเติมไฮโดรเจนในน้ำมัน ทำให้น้ำมันกลายเป็นของแข็ง มีคุณสมบัติเพิ่มปริมาณคอเรสเตอรอลไม่ดี (LDL) และลดคอเลสเตอรอลดีในร่างกาย (HDL)
ทั้งนี้ ประเทศแรกที่มีการ Take Action เกี่ยวกับไขมันทรานส์ คือ เดนมาร์ก เมื่อปี 2003 ตามมาด้วย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เอกวาดอร์ ชิลี สิงคโปร์ เซาท์แอฟริกา และอื่น ๆ ในปีเดียวกัน รวม 23 ประเทศ ขณะที่ ประเทศล่าสุดที่วางมาตรการเรื่องนี้ คือ สหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน และแคนาดากำลังจะประกาศในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
WHO แนะนำว่า การบริโภคไขมันทรานส์ไม่ควรถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่ได้ใน 1 วัน หรือก็คือ 2.2 กรัมต่อวัน เมื่อคำนวณจากพลังงาน 2,000 แคลอรี ขณะที่ งานวิจัยล่าสุดที่เก็บข้อมูลเมื่อปี 2010 และเผยแพร่ปี 2014 พบว่าประชากรโลกโดยเฉลี่ย บริโภคเกินจากนั้น ที่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ประเทศยากจนมีตัวเลขที่เกินจากค่าเฉลี่ย และน่าตกใจมาก เช่น อียิปต์อยู่ที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ และปากีสถาน 5.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
โดยรวมแล้ว ข้อมูลที่ได้ชี้ว่า ประเทศที่มีรายได้สูงเป็นประเทศที่ Take Action เรื่องนี้ก่อน ขณะที่ ประเทศรายได้ระดับกลางและล่างส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนนัก ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงสุด ก็ยังประสบปัญหา ไม่ใช่เรื่องมาตรการของรัฐ และเป็นการเข้าถึงความรู้เรื่องโภชนาการ และข้อเสียของไขมันทรานส์ นั่นคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าไขมันทรานส์ไม่ดีต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนโครงการ Resolve to Save Lives สนับสนุนโดยมูลนิธิบลูมเบิร์ก / มูลนิธิ ชาน ซักเคอร์เบิร์ก และมูลนิธิ บิลและเมลินดา เกตส์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อ 'Save Lives' หรือหาแนวทางเพื่อให้คนมีอายุยืน ปราศจากโรคภัย ออกมาให้ความเห็นว่า เป้าหมายปี 2023 ของ WHO สามารถบรรลุได้ในทุกประเทศ โดยต้องเริ่มจากมาตรการของรัฐบาลกลาง และความร่วมมือของผู้บริโภคเป็นหลัก