นักเศรษฐศาสตร์ชี้ สินค้าปลอมแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียอดขายเติบโตในระดับที่น่าตกใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทลงโทษยังไม่รุนแรงพอ
นักเศรษฐศาสตร์จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ระบุว่า ปัญหาการซื้อขายสินค้าปลอมแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตในระดับที่น่าตกใจ และสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลในภูมิภาคเป็นมูลค่ามหาศาล โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบทลงโทษทางกฎหมายที่ยังไม่รุนแรงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว
เทรนด์การปลอมแปลงหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้ขยายวงกว้างขึ้น คือการที่ผู้กระทำผิดเปลี่ยนจากการลอกเลียนแต่สินค้าแบรนด์เนม มาลอกเลียนสินค้าหลากหลายยิ่งขึ้น และในปัจจุบัน ทุกอย่างที่มีโลโก้ก็เสี่ยงต่อการปลอมแปลงทั้งสิ้น ทั้งสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป อะไหล่ แบตเตอรี่ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง หรือแม้แต่อาหาร
โดยผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า เอเชียมักถูกมองเป็นแหล่งผลิตและซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะมีโรงงานจำนวนมาก และมีฮับการขนส่งหลายแห่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การซื้อขายสินค้าปลอมแปลงเกิดขึ้นทุกที่ในโลก และเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องช่วยกันแก้ไข
เมื่อปี 2013 ข้อมูลของ OECD ชี้ว่า สินค้าปลอมแปลงมีสัดส่วนเป็น 2.5 เปอร์เซ็นต์ของการค้าโลก คิดเป็นมูลค่า 461,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 14 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ ตอนนั้น ถือเป็นจำนวนกว่า 2 เท่าของรายได้ประจำปีของบริษัท Apple และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ