นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาหุ่นยนต์ที่ยืดหยุ่น และเคลื่อนที่ได้คล้ายกับงูเลื้อย โดยนำเทคนิคการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นเข้ามาช่วย เพื่อสร้างความยืดหดของผิวหนังและทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
การพัฒนาหุ่นยนต์ให้เลื้อยได้คล้ายกับงู เป็นเทรนด์ที่วงการพัฒนาหุ่นยนต์ให้ความสนใจมาก เพราะสามารถช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ผ่านทางแคบได้ จนทำให้มีการแข่งขันกันพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีลำตัวยาวและเลื้อยได้คล้ายงู แต่หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ที่ทำออกมายังแตกต่างกับงูจริงตรงที่ผิวหนัง ซึ่งยังคงไม่สามารถยืดหด จึงทำให้หุ่นยนต์ไม่สามารถยึดเกาะกับพื้นผิวและเลื้อยได้สะดวก
ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจึงแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำศิลปะการตัดกระดาษญี่ปุ่นโบราณ หรือ Kirigami เข้ามาใช้ จึงทำให้หุ่นยนต์มีผิวหนังประดิษฐ์คล้ายงู โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถเคลื่อนที่ไปในบริเวณที่มีพื้นผิวหยาบได้ดียิ่งขึ้น
โดยนักวิจัยได้นำผิวหนังประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นนี้ไปหุ้มรอบหุ่นที่มีรูปทรงเป็นท่อตรง ซึ่งภายในตัวหุ่นมีกลไกที่กระตุ้นการยืดหดของลำตัวด้วยลม ซึ่งช่วยลดการเสียดสีได้ดียิ่งขึ้น โดยเมื่อหุ่นยนต์พองตัวจากอากาศด้านในจะทำให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เมื่อถ่ายลมออกจะทำให้เกล็ดบนผิวหนังแบนราบไปกับตัว ซึ่งจะทำให้หุ่นจอดนิ่งอยู่กับที่ และถ้าทำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หุ่นยนต์สามารถเลื้อยได้คล้ายกับงูจริง
นอกจากนั้น นักวิจัยยังเตรียมพัฒนาหุ่นยนต์ลักษณะนี้ เพื่อนำไปใช้สำหรับบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก หรือพื้นที่ที่ซับซ้อน ซึ่งจะช่วยในปฏิบัติการค้นหา กู้ภัย หรือสำรวจสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่นำมาใช้ในการแพทย์ต่อไป โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Science Robotics เป็นที่เรียบร้อยแล้ว