ไม่พบผลการค้นหา
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถูกหยิบมาใช้ผลักดันนโยบายภาครัฐในการปรับเปลี่ยนระบบ ‘บริจาคอวัยวะ’ ให้ทุกคนพร้อม ‘ส่งต่อ’ ไปยังผู้ขาดแคลน

คุณหมอหนุ่มรูปหล่อ ในชุดสูทลายทางสีน้ำเงินเข้มสุดเนี้ยบ เดินเข้ามาพร้อมรอยยิ้มกว้างและท่าทีสบายๆ แม้เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมอันเคร่งเครียดของกระทรวงสาธารณสุข

"ผมไม่ได้มาสายใช่ไหมครับ" หมอเอ้ก 'คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์' กล่าวทักทาย ‘วอยซ์ออนไลน์’ ด้วยความกังวลเล็กน้อยหลังเข้าใจผิดว่าตัวเองมาช้ากว่าเวลานัด

ในฐานะคณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เขาอยู่ระหว่างผลักดันปรับแก้ระบบ ‘การบริจาคอวัยวะ’ ในประเทศไทย โดยนำแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาสร้างผลกระทบต่อผู้คน


ไทยขาดแคลนอวัยวะ

การส่งต่ออวัยวะในประเทศไทย เป็นลักษณะของจิตศรัทธาหรือการบริจาค เรียกว่าระบบ “เลือกเข้าร่วม” (Opt-in)  

โดยข้อมูลจากสภากาชาดไทย พบว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย กับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะมีความแตกต่างกันอย่างมาก และทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอวัยวะในไทย

จำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะมีมากถึง 6,271 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 481 คน โดยมีผู้บริจาค 206 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2562 )

“ตัวเลขพวกนี้เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง มีคนรอปลูกถ่ายอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน” หมอเอ้กบอก “ลองคิดดูว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับญาติพี่น้องหรือคนที่เรารู้จัก จะเป็นยังไง” 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบ Opt-in พบว่าบ้านเรามีตัวเลขของผู้บริจาคอวัยวะที่ต่ำกว่ามาก โดยไตเป็นอวัยวะส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการปลูกถ่าย

สัมภาษณ์หมอเอ้ก

เข้าร่วมอัตโนมัติ ถอนตัวโดยสมัครใจ 

ทฤษฎี “nudge theory” ของ ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard H.Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ถูกหยิบยกมาปรับใช้กับหลายนโยบายของแต่ละประเทศ

เธเลอร์ พบว่า เมื่อมนุษย์โดยทั่วไปขาดความมีเหตุผล มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในระยะยาว มองเห็นแต่ประโยชน์ใกล้ตัว ทั้งยังละเลยสิ่งที่ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การแก้ไขจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านบวก และการแนะนำทางอ้อมเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจ เกิดการตัดสินใจของกลุ่มและปัจเจกชนอย่างเห็นพ้องโดยไม่มีการบังคับ 

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักเศรษฐศาสตร์ สรุปแนวคิด Nudge ว่า คือการทำอย่างแนบเนียนให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่สามารถคาดเดาได้โดยไม่มีการบังคับและอย่างนิ่มนวล 

“nudge theory” นำไปสู่ระบบ opt-out หรือ “ถอนตัวออก” กล่าวคือ กำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ และให้คนที่ไม่ยินดีจะบริจาคไปแสดงความจำนงถอนชื่อของตนออก

“ค่าเริ่มต้นของทุกคนคือการบริจาคโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าคุณไม่ต้องการ ก็สามารถเดินออกจากโปรแกรมนี้ได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกวินาที หลายประเทศใช้ระบบนี้กันมากขึ้น เช่น ออสเตรีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษที่เพิ่งผ่านกฎหมายในสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา”

บริจาคอวัยวะ

หมอหนุ่มวัย 30 ปี ยกตัวอย่างต่อว่า ออสเตรียมีอัตราการบริจาคอวัยวะถึง 99.98 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เมื่อเปลี่ยนระบบเป็น Opt out โดยตัวเลขจากระเบียบการบริจาคอวัยวะแห่งออสเตรีย พบว่า ชาวออสเตรียกว่า 500 คนที่บริจาคอวัยวะในปี พ.ศ.2558 สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะได้เฉลี่ยถึง 1,500 คน

ยังมีอีกรูปแบบที่น่าสนใจในรัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า Mandated choice คือ “บังคับให้ทุกคนต้องแสดงความจำนงอย่างใดอย่างหนึ่ง” และมีผลให้ผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นราว 60 เปอร์เซ็นต์

“ทุกครั้งที่คุณไปทำบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ คุณต้องตัดสินใจว่าคุณจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่ เขาจะมีแบบฟอร์มให้เลือก ตรงนี้อาจนำมาใช้ช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลง”  

เขายืนยันว่า นี่ไม่ใช่นโยบายละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพราะทุกคนยังเป็นเจ้าของร่างกายของตัวเอง “อยู่ที่เราว่าอยากจะเป็นผู้ให้หรือเปล่า”

สัมภาษณ์หมอเอ้ก คณวัฒน์ ประชาธิปัตย์

ไม่ยึดติด - เลิกกลัวชาติหน้า

‘ชาติหน้า’ กลายเป็นอุปสรรคต่อการบริจาคอวัยวะ เมื่อหลายคนเชื่อว่า หากบริจาคอวัยวะชาตินี้แล้วชาติหน้าจะเกิดมาเป็นคนพิการ ไม่ครบ 32 ประการ

อดีตจักษุแพทย์ บอกว่าสำหรับเขาแล้ว พระพุทธศาสนาสอนให้ไม่ยึดติด และเชื่อว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้ 

“พุทธของผมคือไม่ยึดติด ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่แล้ว เอาไปช่วยคนอื่นที่เขาได้รับประโยชน์มากกว่า” เขาบอก 

“แต่ถ้าคิดว่าขัดกับความเชื่อและหลักการของคุณ ก็แค่เดินไป Opt-out ครับ” ชายหนุ่มที่ตัดสินใจบริจาคอวัยวะและดวงตาเมื่ออายุ 29 ปีกล่าว 

เขายังคาดว่าระบบ “บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ” จะลดโอกาสเกิดการซื้อขายอวัยวะเถื่อนในตลาดมืดได้ด้วย เนื่องจากอวัยวะจะเข้ามาสู่ในระบบและรองรับกับผู้คนที่ขาดแคลนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เช่นกัน  

“การซื้อหาและปลูกถ่ายแก้วตานั้นใช้เงินหลักแสน ถามว่าบางคนจะเอาเงินที่ไหนกัน ผมคิดว่าแค่เราเปลี่ยนระบบในการสร้างตัวเลือก คนจนจะมีโอกาสได้รับอวัยวะเท่าๆ กับคนที่มีเงิน” หมอเอ้กบอกว่าคงน่าเสียดายไม่น้อย หากประเทศไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือโอกาสจากวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า 

จากนี้ไปเขายังต้องผลักดันร่วมกับคณะทำงานจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำให้ผู้คนเห็นปัญหา และสะท้อนออกมา ก่อนประเมินและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย

ภาพจากหมอเอ้ก01-ทำไมคุณควรบริจาคอวัยวะ.jpg2-อวัยวะและเนื้อเยื่อใดบ้าง.jpg

ภาพจาก http://www.organdonate.in.th/

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog