อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติจำนวนมาก รวมถึงอดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติอีกหลายคน ร้องขอให้กูเตอร์เรสลงมามีบทบาทนำในการนำสันติภาพคืนมาแก่ยูเครน ก่อนระบุว่าสหประชาชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความเสี่ยงของการมีองค์กรดังลกล่าวอยู่ต่อไปในระบบระหว่างประเทศ หลังจากหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติอย่างรัสเซียกลับเป็นผู้รุกรานยูเครน ซึ่งขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง
“สิ่งที่เราและสาธารณชนในวงกว้างอยากเห็นคือ การปรากฏตัวทางการเมืองของสหประชาชาติและการมีส่วนร่วมต่อสาธารณะ นอกเหนือจากการตอบสนองด้านมนุษยธรรมที่โดดเด่นของสหประชาชาติต่อวิกฤตยูเครน” จดหมายดังกล่าวระบุ “เราอยากเห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อการสถาปนาสันติภาพกลับมาอีกครั้ง ด้วยการเริ่มการหยุดยิงชั่วคราว การใช้ความสามารถขององค์การสหประชาชาติสำหรับการเป็นองค์การที่ดี ในการไกล่เกลี่ยและการแก้ไขข้อขัดแย้ง”
“อาจหมายรวมถึงการไปเยือนพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง การหารือกับฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งการย้ายสำนักงานของท่านเองไปยังยุโรปเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ใกล้ชิดกับการเจรจาที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน และด้วยเหตุนี้ที่จะเป็นตัวชี้วัดถึงมติของสหประชาชาติในการจัดการกับวิกฤตครั้งใหญ่นี้” จดหมายเสนอแนวทางการทำงานขององค์การสหประชาชาติเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน
ประเทศที่เล่นบทบาทนำในการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซียมีเพียงแค่ตุรกี ฝรั่งเศส อิสราเอล และออสเตรีย ท่ามกลางความกังวลว่าสหประชาชาติกลับมีบทบาทน้อยมากกับการจัดการกับวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ซึ่งต่างกันกับเมื่อเกิดวิกฤตการณ์คิวบาเมื่อปี 2504 หลังจากที่ อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติชาวพม่าที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ แต่กลับเข้ามามีบทบาทครั้งใหญ่ในการลดระดับและหาทางออกให้กับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในครั้งอดีต
จดหมายฉบับดังกล่าวถูกเขียนขึ้นโดยอดีตเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส 200 ราย ซึ่งรวมถึง เจฟฟรีย์ เฟลต์แมน อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการการเมืองระหว่างปี 2555-2561 แอนดรูว กิลมูร์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2559-2562 ฟรานซ์ โบว์มานน์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับการประชุมใหญ่จนถึงปี 2558 อาเจย์ ชฮิบเบอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ UNDP และ โฮเซ แอนโตนีโอ โอแกมโป อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม
“เราตัดสินใจที่จะส่งเสียงของพวกเราจากความกังวลต่อความเสี่ยงของการมีอยู่ จากการที่สหประชาชาติกำล้งเผชิญหน้ากับจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้” จดหมายระบุ “การรุกรานของรัสเซียในยูเครน ทำลายระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างรุนแรง มันเป็นจุดสุดยอดของภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของมนุษยชาติ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติได้ฝังรากเอาไว้”
มีผู้วิจารณ์ว่ากูเตอร์เรสไม่สามารถขยับตัวได้ จากความแตกแยกกันในรัฐสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงการลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่ที่เผยให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างหนักระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในขณะที่ผู้สนับสนุนกูเตอร์เรสแก้ต่างว่า เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันแสดงออกในการวิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ได้กระทบต่อความเป็นมืออาชีพของตนแต่อย่างใด
“นี่คือเหตุผลของการมีอยู่ของสหประชาชาติ ซึ่งกำลังได้รับการทดสอบอีกครั้งในกรณีนี้ เรารู้สึกตกใจกับทางเลือกอื่นๆ ที่สหประชาชาติเริ่มไม่มีความสำคัญมากขึ้นและในที่สุดก็ยอมจำนนต่อชะตากรรมอย่างสันนิบาตชาติ ด้วยความสูญเสียของมนุษย์และการทำลายล้างทางวัตถุที่จะตามมา” จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติเร่งเพิ่มบทบาทของตนในวิกฤตครั้งนี้โดยด่วน
ที่มา: