วันที่ 4 มี.ค. 2565 ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “ปัญหาและทางออก ข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน สงครามเย็นครั้งที่ 2 ?“ โดย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมงานในเสวนาวิชาการด้วย
โดยตอนหนึ่งของการเสวนา ธีรรัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ด้วยความกังวลอย่างใกล้ชิด และในฐานะกรรมาธิการต่างประเทศ ที่มี ศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ เราได้ติดตามสอบถามแผนการรับมือวิกฤตของรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างกระทรวงการต่างประเทศ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนไทยผู้ประสบภัยในยูเครนว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งตนมองว่า ฝ่ายบริหารยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ได้เลย
ธีรรัตน์ ย้ำว่า ภายใต้วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมการรับมือเพิ่มเติมในทุกด้านให้ทันท่วงที โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเปราะบางจากการบริหารจัดการผิดพลาดในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 มาแล้ว และจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้นเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ดังนั้น หากสงครามยืดเยื้อ ก็จะยิ่งซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชนที่มีอยู่ก่อนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อถามว่าประเทศไทยควรมีท่าทีต่อวิกฤตครั้งนี้อย่างไร ธีรรัตน์ มองว่า เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การไม่เห็นด้วยกับการรุกรานประเทศใดๆด้วยอาวุธสงคราม ทุกภาคส่วนต้องออกมาเรียกร้องให้เกิดการเจรจาผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เพื่อลดแรงกดดันระหว่างประเทศคู่พิพาท ปฏิกิริยาของรัสเซียและยูเครนนั้น เป็นผลมาจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งมาตรการกดดันในรูปแบบต่างๆจากนานาชาติ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญว่าปัญหานี้จะดำเนินไปทางไหน
ธีรรัตน์ มองว่า ประเทศไทยควรเร่งรัดให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ประสบภัยสู้รบในทันที พร้อมระบุว่า หากสามารถใช้เวทีการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เปิดพื้นที่เป็นตัวกลางในการผสานรอยร้าว ทำให้รัสเซียและยูเครนหันหน้าเจรจากัน เพื่อลดความสูญเสียได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี