ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างราชการ หน่วยงานรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทถวายพระกุศลสมเด็จพระสังฆราช เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 8 รอบ โดยไม่ถือเป็นวันลา

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 28 มี.ค. 66 ได้เห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 97 รูป ถวายพระกุศล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิ.ย. 2566 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-1 ก.ค. 2566 (รวม 17 วัน) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร

สำหรับการบรรพชาอุปสมบทครั้งนี้ได้กำหนดผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคเอกชน นักศึกษาและประชาชน มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานสนับสนุน

ไตรศุลี กล่าวว่า ลำดับการดำเนินโครงการฯ มีรายละเอียดดังนี้ เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 20 ก.พ. -31 มี.ค. 66  จากนั้นดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติในเดือนเม.ย. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการในเดือน พ.ค., มีพิธีปลงผมในวันที่ 15 มิ.ย. 66, มีพิธีรับประทานผ้าไตรและเข้ารับประทานพระโอวาทจากสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 16 มิ.ย. 66, พิธีบรรพชาอุปสมบท วันที่ 17 มิ.ย. 66 และลาสิกขาในวันที่ 1 ก.ค. 66 ตามลำดับ


ครม. รับทราบ 9 แนวทาง 'สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล'

นอกจากนี้ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบแนวทางการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อกำหนดแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ในโอกาสที่ไทยเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัย และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสุข จากประเพณีสงกรานต์นี้

ทิพานัน กล่าวว่า แนวทางการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” มี 9 ข้อ ดังนี้

1. ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ

2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์

3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และขอพรผู้สูงอายุ

4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค หรือชุดสุภาพ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ

5. ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านเพื่อถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี

6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชนบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

7. ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจร อย่างเคร่งครัด

8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 608 ให้รักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคทางเดินหายใจ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน

9. ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก

“แนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” นี้จะเป็นการตอกย้ำคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมไทย ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผลักดันให้ “สงกรานต์ในไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่ของยูเนสโก ซึ่งยูเนสโกจะพิจารณาการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้” น.ส.ทิพานัน กล่าว