ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านยืนยัน อายุทางการเมืองในฐานะนายกฯ ของ 'ประยุทธ์' สิ้นสุดแล้ว รัฐธรรมนูญเขียนชัดไม่มีอะไรต้องตีความ เสนอให้ลาออก เปิดทางสภาโหวตเลือกนายกใหม่ ปิดประตูความขัดแย้ง

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน 'อนาคตประเทศไทย บนเส้นทางประชาธิปไตย' ครั้งที่ 6 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, พิจารณ์ เชาวพัฒนาวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, วิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, ธงชาติ รัตนวิชา ที่ปรึกษาพรรคประชาชาติ, ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์การสื่อสารและรณรงค์นโยบายพรรคเพื่อชาติ, นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

นพ.ชลน่าน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งระบุว่า การจัดเวทีวันนี้ เป็นไปเพื่อระดมความเห็นว่าประชาชนอยากเห็นอะไร คิดเห็นต่อเรื่อง 8 ปีอย่างไร เพื่อหาทางออกร่วมกันให้กับประเทศ ส่วนสิ่งที่ตนอยากเห็นที่สุดคือวันที่ 23 ส.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกประกาศว่า ตนเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถือเป็นการประกาศยุติการดำรงตำแหน่งตัวเอง ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

“ประชาชนเริ่มตาสว่างเห็นโอกาสจากที่ถูกครอบงำมา 8 ปี ได้มีโอกาสเลือกนายกฯ คนใหม่ แต่หากยังอยู่ยาวจะเกิดการผูกขาดใช้อำนาจทางการเมือง เป็นเหตุให้ก่อวิกฤตทางการเมือง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง เจตนารมณ์แบบนี้หากปล่อยไว้ความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทยจะไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย จะเป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ เป็นประชาธิปไตยแบบจอมปลอม แต่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น” นพ.ชลน่านกล่าว

จากนั้นมีการเสวนา 'อนาคตประเทศไทย บนเส้นทางประชาธิปไตย' โดยชูศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้เลยหากยังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ เพราะถูกร่างขึ้นมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่พรรคอันดับ 2 รวมเสียงพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคปัดเศษจัดตั้งรัฐบาล และเอา ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้รัฐบาลในอนาคตทำตามยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ทำตามก็จะมีปัญหา ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคยังยึดมั่นที่จะขอแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยกระบวนการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแล้ว 1 ร่าง ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเร็วๆ นี้

ส่วนกรณีวาระ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ชูศักดิ์เห็นว่า ตามเจตนารมณ์การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีนั้น เพื่อไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างกลไกต่างๆ เพื่อสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้ เชื่อว่าโดยเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และการตีความตามลายลักษณ์อักษร พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ ซึ่งวิถีทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ การกำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งเป็นวิถีทางประชาธิปไตย แต่คนที่มาโดยเผด็จการจึงไม่รู้จักวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาชนต้องสอนให้เขารู้ว่าวิถีทางประชาธิปไตยต้องปฏิบัติเช่นนี้ หมดเวลาข้อยกเว้นทั้งหลายต้องสิ้นสุดไปด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

ด้าน พิจารณ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งมา 8 ปี แต่มี พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองอยู่มา 8 ปีแล้ว ทั้งนี้ 8 ปีที่ผ่านมาระบอบประยุทธ์กัดกินประเทศทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พล.อ.ประยุทธ์จึงหมดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯต่อ ทั้งความชอบธรรมทางกฎหมาย เพราะหากตีความตามตัวบทกฎหมายก็ชัดเจนว่า วันที่ 24 ส.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไม่ได้แล้ว นักวิชาการทางกฎหมาย สื่อมวลชน ต่างให้ความเป็นไปในทางเดียวกัน

ส่วนธงชาติกล่าวว่า ฃ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องนับวาระต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ดังนั้น เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยซ้ำ เพราะทุกคนเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ยอมรับเรื่องนี้ก็ทำได้ ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าก็ด้วยกติกาของชาติ แต่การกำหนดกติกาที่เอาเปรียบผู้อื่น สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองที่อาศัยกฎหมายที่ตัวเองร่างขึ้นมานั้นชอบธรรมหรือไม่ ดังนั้น ควรเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยตั้ง ส.ส.ร.จากตัวแทนประชาชนเข้ามาร่าง เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐมากมาย

รอ.จารุพลกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 ระบุว่า นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน8ปี ไม่ได้ แต่คนสนับสนุนบอกว่า ควรนับวาระพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2560 หรือ 2562 แต่หัวใจหลักของการเป็นนายกฯ คือ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาตั้งแต่ปี2557 และไม่ได้บอกว่าจะเป็นนายกฯ มาจากวิธีไหน เลือกตั้งหรือยึดอำนาจ ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ควรไปได้แล้ว

ส่วนนิคม กล่าวว่า การจะอยู่หรือไปอยู่ที่จิตใต้สำนึก นิสัย กมลสันดานของท่าน มีเส้นบางๆ ดีหรือชั่ว ถ้าเลือกดีก็ดี ถ้าไม่ดี ก็รับผลกรรม เชื่อว่าวันนี้ท่านคงไม่มีความสุข ถ้าอยากมีความสุข ขอให้เลือกทำดี ถ้าคิดเป็นก่อน 23 ส.ค. ต้องแถลงลาออก จากสิ่งที่เลว คนจะมองว่าดี เพราะยังรู้ผิด รู้ถูก ยังคิดถึงประเทศชาติส่วนรวม เชื่อว่าท่านมองออก แต่ขึ้นอยู่กับว่า จะเลือกทางไหน ประเทศนี้เป็นของทุกคนที่ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ทำตัวเหนือกฎหมาย ก็ลองดู พวกเราจะจับท่าน เข้าคุก ถ้ายังไม่ลาออก เดินถนนเส้นไหนไม่ได้ นอกจากอยู่แต่ในค่ายทหาร ลองคิดดู เลือกทางที่ดีที่สุด ลาออก คงไม่ยุบสภาฯ เพราะจะรักษาการไปเรื่อยๆ ประเทศเสียหายมากกว่าเดิม

เมธา กล่าวว่า ขอเสนอทางเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทางเลือกแรก ลาออกวันที่ 23ส.ค. เสียสละเพื่อประเทศ เศรษฐกิจดีขึ้น บ้านเมืองได้ไปต่อ ไม่เกิดความขัดแย้ง ทางเลือกที่สองคือ ยุบสภาฯ จะรักษาการต่อไป เป็นทางเลือกที่เห็นแก่ตัว หรือจะเลือกการฝากความหวังไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อกังวล ถ้าใช้อำนาจหลังวันที่ 23 ส.ค. หากศาลบอกว่า หมดอำนาจตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. การใช้งบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายจะเกิดความเสียหาย มีคนเสนอทางเลือก ดังนั้นควรลาพักร้อน รอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือทางเลือกสุดท้าย ปล่อยให้ประชาชนรวมตัวกันขับไล่ จะเป็นผู้นำทรราช จะอยู่เมืองไทยไม่ได้ หากเลือกทางเลือกนี้ถือว่า โง่งมที่สุด วันนี้เรากลัวความสูญเสีย ความขัดแย้ง ทางออกที่ดีที่สุด คือ ลาออกวันที่ 23 ส.ค. ไม่เช่นนั้น อาจจะมีความขัดแย้ง ลุกลามบานปลาย แต่ถ้ายังไม่เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่วันที่ 24ส.ค. ขอให้พี่น้องประชาชน มาร่วมกำหนดชะตากรรมพล.อ.ประยุทธ์ไปด้วยกัน