ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ลงพื้นที่ 'เลียบคลองเปรมประชากร' ห่วง 'น้ำท่วม' ปัญหาใหญ่ เร่งเขื่อนคลองลาดพร้าว ยกระดับคุณภาพชีวิต เผยเตรียมถก 'ชัยวุฒิ' รมว.ดีอีเอส รื้อสายสื่อสารรกรุงรัง ย้ำเป็นคำสั่งของประชาชนที่ทนไม่ไหว ถ้า กสทช.-การไฟฟ้าฯ เกี่ยงกัน ทาง กทม.พร้อมอาสาแก้ปัญหาให้

วันที่ 3 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล พร้อมคณะทำงานลงพื้นที่บริเวณชุมชนประชาร่วมใจ 1 และ2 เลียบคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร ตามนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร เพื่อดูการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง ภายหลังมีการประชุมหารือกับทางสำนักงานเขตจตุจักรเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. 

โดยหลังจากมีการลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์ และพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ได้มีการให้สัมภาษณ์ว่า เขตจตุจักร ถือเป็นเขตที่มีคนร้องเรียนในแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (แพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างประชาชนกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ) มากที่สุดก็ว่า 4,000 เรื่อง และมีการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 1,800 เรื่อง ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีการปรับปรุงการช่วยเหลือประชาชนให้มีประสิทธิภาพได้

ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหลักใหญ่ที่พบในเขตจตุจักรคือ เรื่องน้ำท่วม ส่วนหนึ่งมาจากการที่คลองลาดพร้าวยังสร้างเขื่อนไม่เสร็จ และมีความล่าช้า ตนจึงได้เร่งรัดดำเนินการไป รวมถึงเขตจตุจักรยังมีพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอื่นๆ ด้วย ส่วนเรื่องชุมชนก็มีคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากรที่มีการประชาชนมีการรุกล้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดีมากในการนำประชาชนที่รุกล้ำขึ้นมาอยู่ริมคลองได้สำเร็จ นี่คือตัวอย่างที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

ทั้งนี้ กรณีของโครงการบ้านมั่นคง ทางกทม. ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่เป็นของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเมื่อเขื่อนที่คลองลาดพร้าวเสร็จสิ้น และตัวบ้านที่ก่อสร้างเสร็จมองว่าไม่นานประชาชนจะสามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ 

ชัชชาติ -6B6B-4B4E-BB24-4A59DCD75E45.jpeg

ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญคือความร่วมมือของชุมชน ถ้าคนในชุมชนยอมขยับขึ้นมาจากคลองก็จะเป็นผลดี ความสำเร็จของโครงการที่ว่านี้คือ อยู่แล้วต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น เพียงแต่ติดเงื่อนไขว่า อยู่แล้วต้องเสียเงินไม่เหมือนริมคลองที่อยู่แล้วไม่เสียเงินแต่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ก็เป็นการแลกกับความมั่นคงตลอด 30ปี และถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่ทำได้ดีมาก ขอขอบคุณรัฐบาล

ส่วนเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องกล้องวงจรปิด CCTV มีหลายจุดที่ต้องปรับปรุง และจะต้องทำให้ประชาชนสามารถขอ CCTV ออนไลน์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยเมื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสร็จก็สามารถนำใบแจ้งความมาขอดู CCTV ได้ทันที

ขณะที่กรณีเหตุชิงทรัพย์เด็กนักเรียนโรงเรียนหอวัง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ชัชชาติ กล่าวว่า ในที่ประชุมสำนักงานเขตจตุจักรก็มีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้ช่วยได้เร็วขึ้น โดย พรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ได้เสนอให้มีการแจกนกหวีดให้กับเจ้าหน้าที่ของกทม. เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้น เมื่อเป่านกหวีดก็จะทำให้คนร้ายตกใจ และได้รับความสนใจจากคนอื่นด้วย ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่ใช้เงินเยอะ และให้พนักงานของกทม.ช่วยเป็นหูเป็นตา ส่วนเรื่องความปลอดภัยบริเวณโรงเรียน ก็ได้มอบหมายให้เทศกิจลงพื้นที่ โดยเน้นไปที่โรงเรียนในกทม.ก่อน ซึ่งจะเน้นทางม้าลาย ทางข้าม และความปลอดภัย 

ชัชชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้ขอชมเชยเขตจตุจักร ที่สามารถแก้ไขปัญหาจาก Traffy Fondue ได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อการช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อไปยังการไฟฟ้านครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลแบบออนไลน์ไม่ต้องผ่านเอกสาร และนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันที

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการรับประทานอาหารกลางวันกับพนักงานกทม. ก็เป็นเรื่องดี เพราะได้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ และพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสวัสดิการ อย่างเช่นพนักงานที่ช่วยเหลือเด็กโรงเรียนหอวังก็ยังไม่ได้รับการบรรจุ ดังนั้นจึงได้กำชับผ่าน จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ให้ไปดูแลพนักงานที่เงินเดือนน้อย เพราะคนเหล่านี้คือโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมกทม. กับประชาชน ต่อให้มีนโยบายดีแค่ไหน แต่ถ้าโซ่คล้องสุดท้ายไม่มีกำลังใจไปทำงานให้กับประชาชน นโยบายก็ไม่มีทางดีได้ 

ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากทำให้เขตจตุจักรเป็นฮับ เพราะเป็นเขตที่มีประชากรเยอะกว่า 1.5 แสนคน อีกทั้งมีชุมชนแออัดอีกเยอะ เพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาอย่างดี 

ชัชชาติ -CE87-4126-9DA5-CA73B4DF63FE.jpeg

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ชัชชาติ จะมีการหารือร่วมกับ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยมองว่า ถ้าทุกคนร่วมใจกันก็ทำได้หมด ซึ่งกระทรวงดีอีเอส เกี่ยวข้องเรื่อง บริษัท โทรคมนาคมเเห่งชาติ จำกัด (มหาชน ) หรือ NT ส่วนหน่วยงาน กสทช.เป็นผู้กำกับ และกทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำจริงก็ตัดสายตายที่ไม่ได้ใช้งานได้อยู่แล้ว โดยยังไม่ต้องมองไกลถึงสายไฟลงดิน เพียงแค่ทำการตัดสายตายก่อน 

ชัชชาติ เผยว่า กทม.จะมีการออกกฎหมายไม่ให้พาดสายสื่อสาร โดยมอบหมายให้ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ไปดูข้อกฎหมาย โดยจะใช้ทั้งพ.ร.บ.ความสะอาดเพื่อไม่ให้เพิ่มสายใหม่ และนำพ.ร.บ.ทางหลวงมาใช้กับสายที่รกรุงรัง อีกทั้งต้องมีวิธีคิดที่แตกต่าง ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.)

ส่วนกรณีที่ กสทช.กับ การไฟฟ้าฯ มีการเกี่ยงกันว่า เป็นหน้าที่ของใครนั้น ชัชชาติ มองว่า "โอเค..ถ้าทะเลาะกัน กทม.ก็จะทำให้ ไม่มีปัญหา สามารถหาทางออกได้ คือประชาชนทนไม่ไหวแล้ว คุณจะเกี่ยงอะไรกัน ประชาชนทนไม่ไหวก็ต้องทำ ไม่ว่าใครรับผิดชอบก็ต้องทำ เพราะเหมือนเป็นคำสั่งมาแล้ว เมื่อมีไฟไหม้หลายหนรกรุงรัง ตั้งแต่เราหาเสียงแล้ว ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเรา ก็ต้องหาคนรับผิดชอบให้ได้"

"โดยในวันพรุ่งนี้จะต้องได้รับความชัดเจนว่า แผนดำเนินการ และกรอบเวลาจะเป็นอย่างไร มองว่า ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรแค่ตัดสาย ไม่ใช่เรื่องส่งจรวดไปดวงจันทร์ ไม่น่ามีปัญหาอะไร และมีทางออกได้" ชัชชาติ กล่าว