ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' หารือ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา ชงนโยบายบริหารจราจรอัจฉริยะ ถกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควง 'ทวิดา' แจงการช่วยเหลือ 'เพลิงไหม้บ่อนไก่' ชี้ปัญหาใหญ่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ด้านรองผู้ว่าฯ เผยเล็งอพยพประชาชนเดือดร้อนเหตุเพลิงไหม้เข้าบ้านมั่นคง

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา โดย ชัชชาติ ได้ให้แถลงข่าวหลังจากการประชุมว่า วันนี้มีการพูดคุยเรื่องข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระบบบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร

ชัชชาติ กล่าวว่า ตนยินดีรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ซึ่ง พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ ก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ และได้นำข้อศึกษาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของเราที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชน 

ชัชชาติ กล่าวว่า ในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว วันนี้ทางคณะกรรมาธิการยังไม่ได้มีข้อสรุปอะไร เพียงแต่มีการรายงานข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลว่ามีอะไรบ้าง ยังไม่ได้เสนอแนะว่าให้ทำอะไรบ้าง ส่วนแนวทางที่ชัดเจนนั้นคงจะไปหารือกับ ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะประธานคณะกรรมการ กรุงเทพธนาคมคนใหม่ ซึ่งผู้ถือสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ กรุงเทพธนาคม (KT) โดยทบทวนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส 

ชัชชาติ ได้กล่าวถึงกรณีการนำงบประมาณของ กทม. ขึ้นเว็บไซต์ว่า ต่อไปนี้ทาง กทม.จะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ทั้งการให้บริการที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนเข้าใจว่าอาจจะมีหน่วยงานอื่นทำมาแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกของ กทม. เป็นมิติของความโปร่งใสที่ประชาชนมีสิทธิจะรับรู้ มีตัวเลขต่างๆ ที่เผยให้เห็น ซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) จะเข้าไปปรับแก้อีกที ส่วนเรื่องการเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นคงต้องดูอีกทีให้แน่ใจ เพราะเผื่อเปิดไปแล้วโดนฟ้องจะเป็นปัญหา 

ชัชชาติ ทวิดา -19B6-40DA-9073-B0E6D13F4401.jpeg

นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ร่วมกับ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียหาย 109 ราย แต่คิดว่ามีจุดที่ต้องปรับปรุงคือ ผู้เสียหายแต่ละกลุ่มมีความต้องการแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง เพราะฉะนั้น การให้ความช่วยเหลือต้องละเอียด

ทวิดา กล่าวว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้ ทาง กทม. คาดการณ์เบื้องต้นว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และสายไฟที่พาดอยู่ด้านนอกอาคารบ้านเรือน โดยทาง กทม. ได้มีการสั่งสำรวจ และจัดระเบียบสายไฟฟ้าตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว ขณะที่จุดอ่อนที่สำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ แม้จะเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณน้ำที่ใช้ดับเพลิงมีน้อย ในชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง น้ำต้องเข้าไปได้ทั้งด้านล่าง และด้านบน

โดย กทม.มองว่า อาจจะมีการเตรียมพื้นที่เฉพาะเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงได้ เพราะการนำประชาชนออกสวนทางกับเจ้าหน้าที่นั้นแทบจะทำไม่ได้ เพราะต่างคนต่างแย่งกันออก ส่วนเรื่องน้ำที่เป็นปัจจัยนั้น ไม่ใช่ว่าใช้การไม่ได้ แต่เมื่อจ่ายน้ำพร้อมกัน 5 หัวฉีด มันมีการดึงแรงน้ำกัน ซึ่งหากแต่ละหัวมีน้ำแรงไปก็อาจจะทำให้หัวจ่ายน้ำแตก ดังนั้นการแก้ปัญหาเชิงกายภาพอาจทำได้แต่ไม่เร็ว แต่ที่ทำได้เลยคือ การตรวจ และประเมินจุดเสี่ยง และมอบหมายให้สำนักงานเขตดูเรื่องสายไฟฟ้า และเครื่องไม้เครื่องมือ

ทวิดา กล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือประชาชนนั้น เราให้ความช่วยเหลือจากเล็กๆ น้อยๆ นักเรียนต้องได้ไปโรงเรียน และหน้ากากอนามัยที่ต้องมีมากกว่านี้ ขณะที่จิตแพทย์ได้ลงพื้นที่แล้วบ่ายนี้ รวมถึงกลุ่มเส้นด้ายก็จะเข้ามาดูในส่วนผู้สูงอายุที่ติดเตียง และผู้ป่วยที่ต้องการยาประจำ ศูนย์บริการสาธารณสุขก็ได้เข้ามาดูแล้ว 

สุดท้ายการจัดหาพื้นที่ศูนย์พักพิง ทวิดา กล่าวว่า ได้มีการคุยกับ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ และทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในเรื่องบ้านมั่นคง ว่า เตรียมพื้นที่ไว้แล้ว 2 แห่งคือ การเคลื่อนย้ายประชาชนบางส่วนในการหาที่นอน ห้องน้ำ ซึ่งสำนักงานโยธาธิการได้มาต่อเติมห้องอาบน้ำไว้แล้ว 

ขณะที่บ้านมั่นคง สามารถเข้าได้เลย 5 หลัง รองรับได้ 20 คน โดยสำนักงานชุมชนจะหารืออพยพประชาชนที่เดือดร้อนที่สุดไปก่อน และมีอีก 100 ห้องของการเคหะฯ สามารถเคลื่อนย้ายได้เลย แต่อยู่บริเวณสายไหม ซึ่งไกลหน่อย แต่เชื่อว่าต้องไปตั้งหลักกันก่อน โดยที่ทางพม. จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตั้งหลัก หากอยู่ต่อจากนั้น ก็อยู่ได้ตลอดชีวิตในราคา 999 บาท ซึ่งทางพม.จะสนับสนุนทั้งค่าเข้าบ้าน ค่าเดินทาง รวมทั้งมีพื้นที่ในตลาดไทยเพื่อที่จะช่วยเหลือเรื่องพื้นที่ทำกิน

ขณะที่ ชัชชาติ เสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่นี้ ผู้อำนวยการเขตปทุมวันยังไม่เคยเจอ ฉะนั้นแผนซ้อมเผชิญเหตุเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อจะได้ทำงานอย่างไร้รอยต่อ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ควรนำไปปรับใช้ ส่วนเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่งก็บริจาคทีหนึ่ง เราต้องมีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยอาจจะมีคลังแห่งการช่วยเหลือฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็นำของจากคลังนี้มาช่วยเหลือ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาเป็นครั้งๆ ไป