ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ชวนร่วมงาน RoboCup 2022 เล็งใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ผู้ช่วยที่ชาญฉลาด เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาให้กับ กทม.ในด้านความปลอดภัย

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 15 ก.ค. 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมชมงาน RoboCup 2022 จัดโดย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) พร้อมด้วย สหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์หลากหลายโซลูชันเพื่ออวดโฉมความอัจฉริยะ รวมถึงนิทรรศการการแสดงผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 - 17 ก.ค. 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (ฮอลล์ EH98 - 100)

โดย ชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะงาน RoboCup 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 แต่ประเทศไทยถือเป็นเจ้าภาพงานนี้ครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์หลายร้อยทีม แต่คนไทยมาร่วมงานไม่ค่อยเยอะ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดี หากใครมีเวลาว่าง ก็มาที่ไบเทค บางนา ได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. มาดูกิจกรรมหุ่นยนต์ต่างๆ สำหรับเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์แข่งฟุตบอล หุ่นยนต์ที่ใช้โปรแกรมมิ่ง หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการ การจัดงานนี้ขึ้นมายังเป็นนิมิตหมายอันดีว่าผู้มาร่วมงานมีความมั่นใจในระบบสาธารณสุขของ กทม. ต้อนรับการเปิดเมืองด้วย 

หุ่นยนต์ -F096-428C-BBB3-9EF8AB9EEAA6.jpegหุ่นยนต์ -950D-4367-8722-2C171E6F7010.jpegชัชชาติ หุ่นยนต์ -5F5E-4334-AD17-3051CAC1601F.jpegชัชชาติ โรโบ หุ่นยนต์ -E951-458E-B28E-703AF200F394.jpeg

ชัชชาติ มองว่า ในอนาคตเราหนีหุ่นยนต์ไม่พ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการมาถึงของหุ่นยนต์ ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถทำงานซ้ำๆได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย โดยเล็งเห็นว่า หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆของ กทม. ได้ เช่น สอดส่องเรื่องความปลอดภัย ด้วยการนำโดรนที่มีระบบพิกัด GPS บินสำรวจสภาพการจราจร หรือจุดที่ไฟส่องสว่างชำรุดบนท้องถนนแทนการใช้กำลังคน รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรูปแบบต่างๆ อาทิ ช่วยเหลือเรื่องการดับเพลิง และการค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในจุดอับสายตา เป็นต้น 

ทั้งนี้ ตนไม่ได้หมายความว่าจะให้หุ่นยนต์มาทำงานแทนคนทั้งหมด เพราะยังต้องมีคนคอยกำกับดูแล หุ่นยนต์เพียงแค่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนเท่านั้น

“จริงๆแล้ว มันมีคำที่คนเรียกกันว่า AI - Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ แต่ตนชอบคำว่า IA - Intelligent Assistant มากกว่า คือ ให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด” ชัชชาติ กล่าว

จากนั้น ชัชชาติ ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงานบนเวทีว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีดูแลเมือง ตนให้ความสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้งในการให้บริการ นำปัญหาของคนมาเป็นโจทย์แล้วให้หุ่นยนต์ตอบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 2. ต้องระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี โดยต้องมั่นใจว่าเมื่อนำมาใช้แล้วจะทำให้โลกดีขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำกว่าเดิม เพราะคนที่มีเทคโนโลยีจะกลายเป็นคนที่มีอำนาจในมือมากขึ้น 3.แนวทางการพัฒนาให้หุ่นยนต์ทำการตัดสินใจบนฐานความคิดว่าด้วยคุณธรรมจริยธรรม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องหาคำตอบกันต่อไป

ชัชชาติ หุ่นยนต์ -E0C9-4C6D-A7BA-C819EE25740C.jpegชัชชาติ -0E2E-452C-87AE-15FF32A54E51.jpeg