ภารกิจแรกของ รมว.กลาโหม คือการจัดโผนายพล ปลายปี เพราะ รมว.กลาโหม คือ 1 ใน 7 บอร์ด ‘7เสือกลาโหม’ หรือ คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล
ในการโยกย้ายปลายปีจะมีการเปลี่ยน ผบ.เหล่าทัพ ทุกเหล่า เพราะจะเกษียณฯ ก.ย.นี้ พร้อมกันหมด ‘เปลี่ยนผ่าน’ จาก แผงอำนาจ ตท.21-22 ไปสู่ ตท.23-24 แทน หาก ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และ ‘บิ๊กช้าง’พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ยัง ‘รักษาการ’ อยู่ ก็จะต้องส่งเรื่องให้ กกต. อนุมัติก่อน เพราะ รบ.รักษาการ ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคล เว้นแต่จัดตั้งรัฐบาลและถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยก่อน ก็จะเป็น รบ. ที่มีอำนาจเต็ม
หากอำนาจไม่ ‘พลิกขั้ว’ และ ‘บิ๊กตู่’ ได้กลับมาเป็น นายกฯ อีกครั้ง ก็จะควบ รมว.กลาโหม อีกสมัย เว้นแต่มีการวัดพลัง-ต่อรอง จาก ‘บ้านป่ารอยต่อ’ ที่จะดัน ‘บิ๊กป้อม’ กลับมาเป็น รมว.กลาโหม อีกครั้ง
แต่อยู่ที่ ‘บิ๊กตู่’ จะยอมหรือไม่ เพราะว่ากันว่าลึกๆแล้ว ‘บิ๊กป้อม’ อยากเป็น รมว.กลาโหม มากกว่า รมว.มหาดไทย เพราะสะท้อน ‘บารมี’ ในฐานะ ‘บิ๊กบราเธอร์’ ได้ เฉกเช่นในยุค คสช. แต่ ส.ส. ใน พปชร. อยากให้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็น รมว.มหาดไทย เพื่อจะได้ดูแลในระดับพื้นที่ได้ยิ่งขึ้น เพราะเป็นหน่วยงาน ‘พลเรือน’ ด้วยกัน หลังเคยก่อ ‘คลื่นใต้น้ำ’ ขับไล่ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาแล้ว
แถมทำการ ‘ขู่โหวตคว่ำ’ ช่วงศึกซักฟอกในสภาฯ ทำให้ต้อง ‘ปิดห้องเคลียร์ใจ’ กันยกใหญ่
แต่อย่าลืมว่า ‘ดุลอำนาจ-โครงสร้าง’ ภายในกองทัพเปลี่ยนไป รมว.กลาโหม ไม่ได้มี ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ เฉกเช่นอดีต แม้แต่ ‘อำนาจการเมือง’ ก็ยากจะแทรกแซง ทำให้ตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีความเฉพาะยิ่งขึ้น ในอดีตหาก รมว.กลาโหม เป็น ‘พลเรือน’ บุคคลนั้นก็คือ ‘นายกฯ’ ที่ควบ รมว.กลาโหม เอง เช่น ชวน หลีกภัย , สมัคร สุนทรเวช , ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น หากไม่ได้เป็น นายกฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ‘อดีตนายทหาร’
ในกรณีที่ ‘อำนาจพลิกขั้ว’ หาก ‘เพื่อไทย’ ได้เป็นรัฐบาล เก้าอี้ รมว.กลาโหม ย่อมหนีไม่พ้น ‘ธรรมเนียมเดิม’ ที่ นายกฯ จะควบ รมว.กลาโหม เอง ระหว่าง ‘แพทองธาร ชินวัตร - เศรษฐา ทวีสิน’ ซึ่งทั้งสองชื่อ ย่อมนำมาสู่ ‘แรงกระเพื่อม’ ทางการเมืองแน่นอน เว้นแต่การจัดตั้งรัฐบาล ที่มี พปชร. ร่วมรัฐบาล ชื่อ รมว.กลาโหม อาจหนีไม่พ้นชื่อ พล.อ.ประวิตร ที่มีกำลังพอที่จะคุมกองทัพ เพราะในกองทัพก็ยังมีน้องๆ สาย พล.อ.ประวิตร อยู่ โดยเฉพาะ ทบ. ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือก ผบ.ทบ. คนต่อไปด้วย
ในขณะนี้ 2 แคนดิเดต ผบ.ทบ. ที่เป็นเพื่อน ตท.23 ต่างวัดกำลังกัน ระหว่าง ‘บิ๊กต่อ’ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. สายทหารเสือฯ ร.21 รอ. เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกคนคือ ‘บิ๊กโต’พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เติบโตจาก พล.ร.2 รอ. สายบูรพาพยัคฆ์ น้องรัก พล.อ.ประวิตร
(พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ.)
แต่หากนับอาวุโส พล.อ.เจริญชัย ติดยศ ‘พลเอกพิเศษ’ ก่อนแล้ว จึงมีโอกาสมากกว่า พล.อ.สุขสรรค์ แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ เพราะสุดท้ายคนจะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ให้เป็น ‘พลเอก’ และชื่ออยู่ใน 5 เสือ ทบ. ก็มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งการแยกพรรคของ ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ ก็สะเทือนมาถึงกองทัพ ใครจะได้เป็น ผบ.ทบ. ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า ป. ไหน จะมีอำนาจเหนือกว่ากัน
หากไล่ดูชื่อ 100 ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อเฟ้นหา ‘อดีตทหาร’ ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม มีชื่ออดีตทหารเพียงคนเดียว คือ ‘บิ๊กอ๊อด’พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อยู่ในลำดับที่ 27 ถือเป็นชื่อที่ยังอยู่ใน ‘เซฟโซน’ 30 คนแรก
สำหรับ พล.อ.พิศาล เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จบ ตท.9 - จปร.20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีต ประธานที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นต้น ซึ่ง ตท.9 ในฝั่งสายตำรวจ ชื่อที่โดดเด่น คือ ‘บิ๊กป๊อด’พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร ที่ถูกจับตาไม่แพ้พี่ชายเช่นกัน
สำหรับชีวิตราชการของ พล.อ.พิศาล เริ่มต้นที่ ร.1 พัน 2 รอ. ก่อนลงไปอยู่ภาคใต้ตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏ 26 มีนาคม 2520 อยู่พื้นที่ภาคใต้มาตลอด จนเป็น แม่ทัพภาคที่ 4 จนเกิดเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
แต่ชีวิตราชการของ พล.อ.พิศาล ต้องพลิกผันจากเหตุการณ์ตากใบ โดนโยกเข้ากรุไม่ได้คุมกำลัง ให้มาช่วยราชการที่ บก.ทบ. และโดนโยกไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แม้จะได้รับการเลื่อนยศเป็น ‘พลเอก’ ก่อนเกษียณฯ ก็ตาม
ทั้งนี้เชื่อกันว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ ย่อมไม่ปล่อยเก้าอี้ รมว.กลาโหม ไปให้ ‘พรรคก้าวไกล’ หากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะพรรคก้าวไกล มีนโยบาย ‘ปฏิวัติกองทัพ’ ชัดเจน ชนิดที่ ‘พุ่งชนกองทัพ’ และไม่ต้องการ ‘เสียดุลอำนาจ’ ในการต่อรองกับทหาร
หากพรรคเพื่อไทย ต้องหา ‘อดีตนายทหาร’ มาเป็น รมว.กลาโหม จริงๆ ชื่อที่ถูกมองจึงหนีไม่พ้น พล.อ.ประวิตร ที่จะมา ‘ปิดประตูรัฐประหาร’ ซึ่งท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ก็เชื่อมั่นในตัวเองเช่นกัน หลังให้สัมภาษณ์สื่อที่ถามว่าจะสื่อสารกับฝั่ง ‘อนุรักษ์นิยม’ อย่ารัฐประหาร ถ้า พล.อ.ประวิตร อยู่ตรงนี้ ว่า “ไม่ต้องบอก เพราะคงไม่มีใครรัฐประหารผม”
อย่าลืมว่า พล.อ.ประวิตร แม้จะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหม มา 4 ปี แต่ยังคงมีน้องๆในกองทัพอยู่ อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร ทราบดีว่าจะ ‘ดีลอำนาจ’ กับฝั่ง ‘อำมาตย์’ อย่างไร ซึ่งชื่อ พล.อ.ประวิตร ก็พอจะ ‘รับประกัน’ ได้ว่า จะไม่เกิดการ ‘ล้างบางกองทัพ’ ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘เงื่อนไข’ ที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร เพราะฝั่ง ‘เพื่อไทย’ มีบทเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง
ซึ่งในขณะนี้ ‘ทีมบ้านป่ารอยต่อ’ พยายาม ‘รีแบรนด์’ พล.อ.ประวิตร ขึ้นใหม่ ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ รปห. 2557 นับตั้งแต่ที่เคยชี้นิ้วไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าทำ รปห. คนเดียว รวมทั้งจดหมายเปิดใจ บทสัมภาษณ์สื่อต่างๆ ที่ย้ำว่าตนไม่รู้เรื่อง และนายกฯเชิญมาร่วมงานตอนหลังเท่านั้น
แต่ก็ปฏิเสธได้ยากเพราะ พล.อ.ประวิตร มีชื่อเป็น ปธ.ที่ปรึกษา คสช. ตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็น ปธ.คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ด้วย แน่นอนว่า 250 ส.ว. คือ มรดกจากยุค คสช. ที่ยังคงมีอำนาจอยู่ หาก พล.อ.ประวิตร มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก็จะสามารถ ‘ปลดล็อค ส.ว.’ ไปในตัวด้วย ซึ่ง 250 ส.ว. จะสิ้นสุดวาระปี 2567
ดังนั้นจึงต้องจับตาชื่อ พล.อ.ประวิตร ให้ดี ที่ตีตั๋วจองเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ ไปแล้ว จะทวงคืนเก้าอี้ รมว.กลาโหม หรือไม่ ผ่านการเล่น ‘เกมสองหน้า’ ในสนามการเมืองครั้งนี้ หรือจะ ‘ฟาสแทร็ก’ ขึ้นเป็น นายกฯ เองเลย แน่นอนว่า ‘เกมอำนาจ’ ครั้งนี้ สะเทือนมาถึง ‘กองทัพ’ หากรัฐบาล ‘พลิกขั้ว’ ขึ้นมา แม้ว่าในขณะนี้ ‘กองทัพ’ จะดูมี ‘ระยะห่าง’ จาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่ลึกๆแล้ว ก็ไม่ปรารถนาให้ ‘อำนาจพลิกขั้ว’ เช่นกัน