ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่าย NGO จี้ สนช.ยุติบทบาท หยุดออกกฎหมายและลาออกจากตำแหน่งทันที โดยชี้ว่า ไม่ต้องรอให้หมดวาระ เพราะเปลืองงบประมาณค่าเงินเดือน ต้องให้สภาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ

กลุ่มผู้คัดค้านการออกกฎหมายของนิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.หลายร้อยคน จาก 186 องค์กร ภายใต้การนำของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. ร่วมกันแต่งชุดดำเป็นเชิงสัญลักษ์ เรียกร้องให้ สนช. หยุดการพิจารณากฎหมายและลาออกจากตำแหน่งทันที โดยนัดรวมตัวกันที่หน้าวัดเบญจมบพิตร พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายที่ สนช. กำลังพิจารณาฉบับต่างๆโดยผู้แทนเครือข่ายจากองค์กรต่างๆ และอ่านแถลงการณ์ โดยนายประยงค์ ดอกลำไย ประธาน กป.อพช.และกำหนดให้ตัวเเทนจากทุกเครือข่าย 242 คน ล้อตามจำนวนสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ ได้เตรียมยื่นหนังสือ 242 ฉบับให้ สนช.ทุกคนผ่านประธาน สนช.

ขณะที่ตำรวจในพื้นที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 80 นาย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยรอบบริเวณ และ พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาล หรือ สน.ดุสิต เจ้าของพื้นที่ ได้แจ้งกับผู้ชุมนุมที่เตรียมจะเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภา ไม่ให้เคลื่อนย้ายจากสถานที่ชุมนุมที่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้กำหนดถึงวันที่ 2 มีนาคม เพราะจะผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้แผนกรกฎในการสกัดกั้นการเคลื่อนขบวน ก่อนที่ กป.อพช. จะเจรจากับ พ.ต.อ. อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 แต่ไม่สำเร็จ จึงส่งตัวแทน 10 คนไปเจรจาให้ประธาน สนช. มารับหนังสือที่สถานที่ชุมนุม หรือ ให้ สนช.ประสานการอนุญาตกับตำรวจให้ตัวแทน 242 คนเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา 

สำหรับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต่อเนื่องจากที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันลงนามจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกและประธาน สนช.แล้ว ตั้งแต่วันที่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเคารพประชาชนและหลักการประชาธิปไตย โดยรอสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณากฎหมาย มีทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาชน สหภาพแรงงาน และ บุคคลทั่วไป รวม 370 รายชื่อ ร่วมในการลงนาม 

กป.อพช. ยืนยันว่า การพิจารณากฎหมายของ สนช.ขาดความรอบคอบ ไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างงรอบด้าน ละเลยและปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้กฎหมายหลายฉบับ มีเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ตลอดจน ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่หลายฝ่ายต่างออกมาคัดค้าน

นายประยงค์ ระบุถึงข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1. ให้ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ใน สนช.ทั้งหมดทันทีในวันนี้ และ 2. ขอให้ สนช.ที่เหลืออยู่ 242 คน ลาออกจากตำแหน่งโดยทันที ไม่ต้องรอถึงวันที่ 23 พ.ค. ที่จะหมดวาระ เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณ เพื่อเป็นเงินเดือนๆ ละ 28 ล้าน ต่อไปอีก 3 เดือนรวมกว่า 100 ล้าน แต่ สนช.ไม่ควรมีภารกิจอะไรอีกแล้ว


เครือข่าย NGOs ประณาม สนช. ไม่รับข้อเรียกร้อง ประกาศไม่รับกฎหมายอยุติธรรม

168 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ภายใต้การนำของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. แถลงการณ์ประณาม สนช.ที่ไม่รับข้อเรียกร้องยุติบทบาท ระบุถึง การที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สนช.ได้พิจารณาและผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วมากกว่า 100 ฉบับ ด้วยความเร่งรีบ โดยเนื้อหาของกฎหมายหลายฉบับริดรอนสิทธิชุมชน สาธารณะสมบัติ และทรัพยากร แต่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนส่วนน้อย

92278.jpg
  • กลุ่มเครือข่าย NGOs เผาพวงหรีดเป็นเชิงสัญลักษณ์

การเคลื่อนไหวของ กป.อพช.ครั้งนี้พยายามเตือนให้ สนช.ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อลูกหลานที่จะได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งที่ สนช.ทั้งหลายได้หลับหูหลับตาทำลงไป แต่น่าเศร้าที่ สนช.ไม่แยแสต่อเสียงร้องเรียนของประชาชน ไม่ยอมแม้แต่จะส่งตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียน กป.อพช.จึงขอประกาศว่า ในห้วงเวลา 25 วันนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ว่า สนช.จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายไปกี่ฉบับที่กดขี่เอาเปรียบประชาชน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มน้อย ทาง กป.อพช.จะไม่ยอมรับการกระทำของ สนช.ที่เป็นเครื่องมือของเผด็จการ 

ตอนท้ายแถลงการ ระบุด้วยว่า กป.อพช.และเครือข่ายจะเดินหน้าต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้เกิดการล้มเลิก หรือแก้ไขกฎหมายอยุติธรรมทุกฉบับ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือสกปรกของ สนช. ภายใต้การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ว่ามันจะต้องใช้เวลากี่ปีก็ตาม