ไม่พบผลการค้นหา
‘นายกฯ‘ เผยย้าย ‘ผบ.ตร.-พล.ต.อ. สุรเชษฐ์’ ชั่วคราว 60 วัน - ยืนยันไม่ใช่การลงโทษ แต่ให้ความเป็นธรรม หากพ้นมลทิน ไม่แทรกแซง พร้อมรับกลับราชการอย่างสง่างาม

วันที่ 20 มี.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่า อย่างที่สื่อมวลชนทราบว่า มีประเด็นทางด้านการปฏิบัติหน้าที่ราชการและคดีความทั้งหลายต้องให้ขบวนการยุติธรรม ดำเนินได้ด้วยความเป็นธรรมไม่มีการแทรกแซง ซึ่งถ้าทั้งสองยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์แต่เพื่อให้เกิดความสะดวกและดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม จึงสั่งให้มีการโอนท่านทั้ง 2 มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานปลัดสำนักงานยกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว 60 วัน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันเป็นการชั่วคราว ไม่ได้เป็นการลงโทษทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เงินเดือนทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่ได้เป็นการลงโทษ 

นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า วันนี้ได้ออกหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับนึงให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีและอีกฉบับให้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ. ตร. ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการ ผบ.ตร. และในช่วงเย็นวันนี้ จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 3 ท่าน ประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการ 

ทั้งนี้ในการเชิญ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ มาพบเพื่อพูดคุยการปฏิบัติตัวว่าจะต้องทำอย่างไร ในช่วงที่ถูกโอนมาปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองท่านรับปากว่าจะไม่มีการพูดอะไรอีกแล้วเรื่องดังกล่าว ขอให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ให้สืบทราบความจริง ให้ขบวนการเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีการแทรกแซง ซึ่งทั้งสองท่านแถลงข่าวไปแล้ว และก็มีความเป็นผู้ใหญ่พอ

"ผมว่าให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ อย่าให้มีการก้าวก่าย อย่าให้มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นเลยดีกว่า" 

เมื่อถามว่า ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเรียบร้อยไม่บานปลายไปมากกว่านี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและไม่สบายใจที่ต้องทำแบบนี้ เพียงแต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้เดินหน้าได้และทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้หากคณะกรรมการใช้เวลามากกว่า 60 วัน แต่พบว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ไม่มีการก้าวก่าย ก็อาจจะพิจารณาโอนย้ายกลับมา ก็ขอเวลาให้คณะทำงาน

เมื่อถามถึงท่าทีของ ผบ.ตร. หลังมีคำสั่งย้ายให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นธรรมดา ที่มีท่าทีไม่สบายใจ แต่ก็ยอมรับด้วยดี และทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับในรายชื่อของคณะกรรมการ ซึ่งตนไม่ได้มีธงว่าต้องตัดสินออกมาเป็นอย่างไร แต่วันนี้ต้องเอาพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง 

"ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แถว 2 แถว 3 ที่อาจมีการเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญฉะนั้นการเอาคู่ขัดแย้ง ไปช่วยราชการสำนักนายกก่อนทุกท่านจะ สามารถทำงานได้เต็มที่โฟกัสอยู่กับพี่น้องประชาชน ทางปัญหาหนี้นอกระบบยาเสพติด เว็บพนัน บอลเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่าซึ่งท่านทั้งสองคนก็เข้าใจ อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีชื่อเสียงที่ดีกลับคืนมาได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ตนไม่อยากก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากให้ปรากฏชื่อ ไม่อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งมาพูดเรื่องนี้แล้ว ให้ขบวนการยุติธรรมเดินไปได้โดยไม่มีการแทรกแซง ทุกคนจะได้สบายใจว่ากระบวนการทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ซึ่งเป็นความลำบากใจและไม่สบายใจที่ทำแบบนี้ แต่ถึงเวลาที่จะเอาคู่ขัดแย้งออกไปจากระบบก่อน เชื่อว่าทุกคนเข้าใจถึงประเด็นที่ต้องมีวันนี้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ตนจะเรียกประชุม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการภาค และผู้บัญชาการทั้งหลายเพื่อชี้แจงนโยบาย ส่วนเรื่องนี้คงไม่ต้องชี้แจงอะไร เพราะเชื่อว่า สื่อก็เป็นกระบอกเสียงอยู่แล้ว และตนพูดตรงไปตรงมาที่สุด ขออย่าลืมว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน 

"ท่านทั้งสองคงสบายใจว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนอะไรแล้ว เพราะว่าได้ถูกโยกมาช่วยราชการสำนักนายกฯแล้ว ไม่มีใครกล่าวหาท่านทั้งสองว่า แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผมทำอย่างนี้เพื่อปกป้องท่านทั้งสอง ถ้าถูกตรวจสอบแล้วปราศจากมลทินก็จะกลับมาได้อย่างสง่า" 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า คณะกรรมการทั้ง 3 คน จะมีการประชุมหารือด้วยกันเอง โดยที่ตนจะไม่เข้าไปก้าวก่าย