จากกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมด้วยทนายความ และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ การชุมนุมนปช. เดือน เม.ย. ปี 2553 จำนวนหลายสิบคนแต่งชุดดำพร้อมถือรูปผู้เสียชีวิต และป้ายข้อความ "99 ศพ ต้องไม่ตายฟรี" เข้าร้องเรียนและสอบถามด้วยวาจาต่ออัยการสูงสุด พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าสำนวนคดีของคนเสื้อแดงยังค้างอยู่ที่ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา
วานนี้ (3 ธ.ค.) คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2553 ให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ.2552 เป็นต้นไปในราชการอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า คดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นคดีพิเศษ นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงว่า ได้รับคดีอาญาที่เกิดขึ้นภายใต้มติคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าวมาสอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 371 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย จำนวน 155 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว กลุ่มที่ 2 คดีเกี่ยวกับการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ จำนวน 25 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว กลุ่มที่ 3 คดีเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 169 คดี สอบสวนเสร็จ 154 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดี และกลุ่มที่ 4 คดีเกี่ยวกับการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ จำนวน 21 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับคดีกลุ่มที่ 3 ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 15 คดีนั้น ในข้อเท็จจริง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนเสร็จสิ้นและส่งไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่เนื่องจากคดีกลุ่มดังกล่าวจะมีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, และผู้บริหารระดับสูง ในความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น จากการสั่งการให้สลายการชุมนุมฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อ พ.ศ.2560 ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าข้อหาดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานอัยการจึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว
โดยในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างสอบสวนในประเด็นผู้ลงมือกระทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพนักงานอัยการขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษแยกสำนวนการสอบสวนตามจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกจำนวน 15 คดี เนื่องจากเห็นว่าแม้ผู้ตายและผู้บาดเจ็บจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือเหตุการณ์เดียวกัน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของบุคคลคนเดียวกัน ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าที่สำคัญ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน