ไม่พบผลการค้นหา
ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้ายื่นหลักฐานการทุจริตวัคซีนพิษสุนัขบ้า ชี้การใช้ใบอย.ปลอม -วัคซีนปลอม-ขนย้ายเนื้อสัตว์เถื่อนโดยไม่มีการตรวจโรค ร้องรักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ดำเนินการตรวจสอบ

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และเครือข่ายพันธมิตรผู้รักหมาและแมว เข้าพบนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อยื่นหลักฐานการทุจริตวัคซีนที่มีการใช้ใบ อย.ปลอม และวัคซีนปลอม รวมทั้งการดำเนินคดีกับบริษัทวัคซีนปลอม และการทุจริตการขนย้ายเนื้อสัตว์เถื่อนที่มีการนำเข้ามาโดยไม่มีการตรวจโรคของข้าราชการกรมปศุสัตว์ 

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า หลักฐานที่นายอัจฉริยะนำมายื่นในวันนี้ ต้องขอนำไปตรวจสอบก่อน หากเป็นใบ อย.ปลอม ต้องดำเนินการให้อย.ตรวจสอบหากพบว่าปลอมจริง ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะเป็นการยื่นเอกสารทางราชการปลอมซึ่งมีโทษอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ ให้ทำให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม


15-5-2561 10-31-31.jpg

โดยที่ผ่านมา นายอัจฉริยะ ได้เคยยื่นหนังสือในเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงเกษตรฯ แล้ว และกระทรวงฯ ได้ทำหนังสือกลับมาที่กรมปศุสัตว์ 3 หัวข้อดังนี้ 

1) ขอข้อมูลเกี่ยวกับแผนการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของปีงบประมาณ 2559-2560 รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ งบประมาณจัดซื้อ บริษัท และ ราคาที่ประมูลได้ บริษัทผู้ผลิต ผลการวิเคราะห์ และสุ่มตัวอย่างส่งวิเคราะห์เพื่อหาคุณภาพมาตรฐาน และคุณภาพของวัคซีน การกระจายวัคซีนทั้งหมดไปยังปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ

2) กรณีสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งมีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จับมาขังไว้รวมกันภายใน 5 วัน หากเป็นกรณีที่ไม่มีเข้าของ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการโดยวิธีอื่นที่ไม่ต้องฆ่าทำลายตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่อย่างไรให้กรมชี้แจงกรณีต่อไปนี้

3) ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้จับและกักกันสัตว์ไว้ ณ ด่านต่างๆทั่วประเทศจำนวนเท่าใด จำนวนสัตว์ที่ตาย จำนวนสัตว์ที่เหลือ มีการนำวัคซีนไปฉีดหรือไม่ บริหารดูแลอย่างไร

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ภายหลังจากนี้ จะทำการส่งเอกสารที่ครอบคลุมกลับไปยังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ไม่ให้มีการฆ่าสุนัข ในกรณีที่ไม่มั่นใจว่าตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ และหากมีการตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ฆ่าสุนัขที่ไม่มีความเสี่ยง จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยทันที และสอบวินัยเจ้าหน้าที่ด้วย

ข่าวเกี่ยวข้อง :