คณะนักวิจัยจาก 4 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้แก่ แมทธิว ฮอร์นซีย์ จากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์, ทรอย แคมพ์เบล มหาวิทยาลัยโอเรกอน, แดน คาฮาน มหาวิทยาลัยเยล และ ร็อบบี ซัททัน มหาวิทยาลัยเคนท์ ร่วมกันทำวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อสำรวจเหตุผลที่คนจำนวนมากในสังคมอเมริกันปฏิเสธข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีหลักฐานและงานวิจัยรองรับ แต่กลับเลือกที่จะเชื่อข่าวปลอมหรือทฤษฎีสมคบคิดแทน ซึ่งคณะนักวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า 'กระแสต่อต้านการตื่นรู้' (anti-enlightenment movement)
การศึกษาวิจัยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่เกิดกระแสต่อต้านเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ขึ้นหลายประการ เช่น คนจำนวนมาก รวมถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งยังเกิดกระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนให้เด็กแรกเกิด เนื่องจากกลุ่มผู้ปกครองชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ให่้แก่เด็กได้ หรือบางรายมองว่าไม่จำเป็น เพราะทารกจะพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันได้เองตามธรรมชาติ
คณะนักวิจัยเลือกศึกษาข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายแบบสุ่ม พบว่ากระแสต่อต้านเหตุผลหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ 'ไม่เกี่ยว' กับระดับการศึกษา เพราะคนที่มีการศึกษาสูงก็ปฏิเสธข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วเช่นเดียวกับคนที่มีการศึกษาระดับทั่วไป โดยผลวิจัยเบื้องต้นสรุปว่า คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะยอมรับข้อมูลหรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองมากกว่าจะยอมรับข้อมูลที่พิสูจน์ว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยบ่งชี้ว่าผู้ต่อต้านข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อของตัวเอง ไม่ได้ปฏิเสธวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังเชื่อในการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ แต่เมื่อมีข้อมูลประกอบหลายด้าน พวกเขามักจะใช้วิธีการแบบทนายที่คัดกรองเฉพาะข้อมูลสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง หรือข้อมูลที่ตัวเองอยากเชื่อว่าเป็นจริง และพยายามอย่างหนักที่จะหาจุดอ่อนของข้อมูลชุดตรงข้าม โดยกระบวนการเหล่านี้ถูกเรียกด้วยศัพท์จิตวิทยาว่าเป็น 'ความเอนเอียงทางประชาน' (Cognitive Bias) หรือการเลือกรับรู้โดยอ้างอิงเหตุผลที่เป็นอัตวิสัย
เว็บไซต์ลอสเอนเจลิสไทม์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของฮอร์นซีย์ หนึ่งในคณะวิจัย ซึ่งระบุว่าเราเติบโตมาในยุคที่การศึกษาและการพิสูจน์หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เป็นหนทางหลักที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจประเด็นต่างๆ ในสังคม ทั้งยังเป็นหนทางที่เชื่อถือได้มากกว่าข้อมูลที่มาจากความกลัว, ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม รวมถึงประเพณีและความเชื่อเก่าแก่ แต่กระแสต่อต้านข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การปฏิเสธข้อมูลเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือการต่อต้านการฉีดวัคซีนแก่เด็ก ทำให้สังคมรับรู้ได้ว่าความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์กำลังถูกสั่นคลอน
ฮอร์นซีย์ย้ำว่า การต่อต้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วอาจส่งผลกระทบร้ายแรง เช่น เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนที่จำเป็น มีความเสี่ยงที่จะป่วยหรือเสียชีวิต ส่วนผู้ปฏิเสธว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องจริงจะทำให้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศล่าช้าไม่ทันการณ์ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศของผู้คนในยุคนี้
ผลวิจัยบ่งชี้ด้วยว่าความเชื่อทางการเมืองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากเลือกยอมรับแต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเอง และการถกเถียงด้วยเหตุผลเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาหรือรับมือในประเด็นต่างๆ ทางสังคมร่วมกัน 'ไม่สามารถเกิดขึ้นได้' เพราะผู้นำทางสังคมจำนวนมากเลือกใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองเพื่อหักล้างหรือเอาชนะฝ่ายตรงข้ามมากกว่าจะประนีประนอมเพื่อนำไปสู่หนทางแก้ปัญหา