ไม่พบผลการค้นหา
มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งหันไปทำงานการกุศล แนะประชาคมโลกเลิกใช้คำเรียก 'ประเทศพัฒนาแล้ว' 'ประเทศกำลังพัฒนา' เพราะเป็นการใช้คำที่เร้าอารมณ์ แต่ไม่ตรงข้อเท็จจริง

เว็บไซต์เวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม เผยแพร่บทความอ้างอิงคำแถลงของบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ระหว่างเข้าร่วมการประชุมนานาชาติของธนาคารโลก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเขาเรียกร้องให้ทั่วโลกเลิกใช้คำว่า 'ประเทศกำลังพัฒนา' 'ประเทศพัฒนาแล้ว' และ 'ประเทศด้อยพัฒนา' ในการแบ่งแยกประเทศต่างๆ พร้อมแนะให้ใช้เกณฑ์จำแนกประชากรออกเป็น 4 ระดับ โดยอ้างอิงรายได้เฉลี่ยต่อหัวแทน

แนวคิดดังกล่าวอ้างอิงจากผลงานศึกษาวิจัยของ 'ฮันส์ โรสลิง' นักสถิติชาวสวีเดน เพื่อนสนิทของเกตส์ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว และทายาทของโรสลิงได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ Factfulness ซึ่งเป็นผลงานเล่มสุดท้ายของเขาออกมา โดยมีเนื้อหาสำคัญที่การเสนอเปลี่ยนเกณฑ์การแบ่งแยกระดับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเสียใหม่ และเกตส์สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกใช้คำเรียกประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ควรใช้ เพราะเป็นคำที่เร้าอารมณ์ แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ข้อเสนอของเกตส์สอดคล้องกับธนาคารโลก

เวิลด์อิโคโนมิกรายงานว่า ข้อเสนอของเกตส์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของธนาคารโลกที่เพิ่งกำหนดนิยามเรื่องรายได้เสียใหม่ โดยแบ่งรายได้ของประชากรทั่วโลกออกเป็น 4 ระดับ เพื่อนำไปใช้เป็นเกณฑ์สำหรับชี้วัดรายได้เฉลี่ยของประชากรแต่ละประเทศ ได้แก่

ระดับที่ 1 (Level 1) ประชากรมีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 66 บาท) ซึ่งคาดว่าประชากรเหล่านี้จะมีจำนวนราว 1,000 ล้านคนทั่วโลก แต่ประเทศที่มีประชากรกลุ่มนี้มากเป็นอันดับต้นๆ จะรวมถึง เนปาล มาดากัสการ์ เลโซโท ซึ่งอายุขัยเฉลี่ยของประชากรกลุ่มนี้ถือว่าต่ำที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มนี้มีความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ไม่มีรองเท้าใส่ ต้องเดินทางไปตักน้ำกินน้ำใช้ตามแหล่งน้ำสาธารณะ เพราะไม่มีน้ำประปา และหุงหาอาหารโดยใช้ฟืนไฟหรือถ่าน เพราะไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง 

เริ่มบูรณะวัดดังในเนปาลหลังแผ่นดินไหว

ระดับที่ 2 (Level 2): ประชากรมีรายได้ต่อวันระหว่าง 2-8 ดอลลาร์ (ประมาณ 66-264 บาท) ถือเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของโลก สามารถพบประชากรกลุ่มนี้ได้ในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ จีน แซมเบีย และไนจีเรีย 

ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าประชากรระดับที่ 1 เพราะสามารถหุงหาอาหารโดยใช้เตาแก๊ส มีจักรยานเป็นพาหนะส่วนตัว และมีฟูกนอน 

ระดับที่ 3 (Level 3): ประชากรมีรายได้ระหว่าง 8-32 ดอลลาร์ต่อวัน (ประมาณ 66-1,056 บาท) ถือเป็นประชากรกลุ่มที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยประเทศและรัฐที่มีประชากรกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่จะรวมถึงอียิปต์ ปาเลสไตน์ ฟิลิปปินส์ รวันดา 

ประชากรกลุ่มนี้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีจักรยานยนต์หรือรถยนต์เป็นพาหนะส่วนตัว มีอาหารการกินที่หลากหลายในแต่ละวัน มีตู้เย็นและไฟฟ้าใช้ รวมถึงได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ระดับที่ 4 (Level 4): ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 32 ดอลลาร์ต่อวัน (ประมาณ 1,056 บาท) หรือมากกว่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 1,000 ล้านคนเช่นเดียวกับประชากรที่มีรายได้ระดับที่ 1 ซึ่งประเทศที่มีประชากรกลุ่มนี้อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่รวมถึงสหรัฐฯ เม็กซิโก, แอฟริกาใต้, สวีเดน และเกาหลีใต้

หากใช้เกณฑ์ชี้วัดแบบเดิม สภาพความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มนี้จะเทียบเท่ากับประชากรในกลุ่มประเทศ 'พัฒนาแล้ว' แต่จะเห็นได้ว่าประชากรในแอฟริกาใต้หรือเม็กซิโก ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ 'กำลังพัฒนา' แท้จริงแล้วมีความเป็นอยู่ที่ไม่แตกต่างจากประชากรชาวอเมริกัน ทำให้เกตส์ย้ำว่าควรจะต้องปรับใช้เกณฑ์ใหม่ในการกำหนดระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ เพื่อให้การวางแผนหรือดำเนินนโยบายส่งเสริมหรือกระตุ้นการพัฒนาตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าเกณฑ์เดิมที่ชี้วัดแบบเหมารวม

นอกจากนี้ เว็บไซต์ซีเอ็นบีซียังรายงานอ้างอิงคำกล่าวของเกตส์เพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนในประเทศที่ถูกมองว่า 'กำลังพัฒนา' ตามเกณฑ์ชี้วัดแบบเดิม เช่น แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มียอดบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลมากกว่าสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: