ไม่พบผลการค้นหา
ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า สัดส่วนภาษาที่ใช้บนโลกอินเทอร์เน็ตแตกต่างการภาษาที่คนใช้พูดจริง สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และภาษาที่ไม่หลากหลายบนโลกออนไลน์อาจทำให้หลายภาษาสูญหายไป

ภาษาถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ทั่วโลก เพราะข้อมูลบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนมีจำนวนมหาศาลขนาดไหนก็ไร้ประโยชน์ หากเป็นภาษาที่เราอ่านไม่ออก ทำให้เหล่าโปรแกรมเมอร์พยายามหาทางออกด้วยการสร้างซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นแปลภาษา เช่น Google Translate ขึ้นมา แต่โปรแกรมแปลภาษาเหล่านี้ก็ยังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อให้สามารถแปลออกมาได้ดี ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่มากสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ

นิตยสาร Forbes ระบุว่า การวิจัยภาษาที่ใช้บนโลกออนไลน์พบว่า จำนวนภาษาที่ใช้บนโลกออนไลน์และภาษาที่ใช้บนโลกจริงมีจำนวนแตกต่างกันมาก ในขณะที่ภาษาจีนและภาษาถิ่นของจีนเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกที่ประมาณ 1,280 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 16 ของประชากรโลก แต่ภาษาอังกฤษกลับเป็นภาษาที่มีการใช้มากที่สุดบนเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 52.9 จากเว็บไซต์ทั้งหมด 10 ล้านเว็บไซต์ ส่วนภาษาจีนเป็นภาษาหลักของเว็บไซต์เพียงร้อยละ 1.8 ของทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่มีคนใช้บนโลกออนไลน์ มากเป็นอันดับ 2 ทั้งที่ภาษาเยอรมันไม่ติด 10 อันดับภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกจริงเลยด้วยซ้ำ

ช่องว่างระหว่างภาษาบนโลกออนไลน์กับภาษาบนโลกจริงไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่นักกิจกรรมและนักวิทยาศาสตร์ยังเตือนว่า การขาดความหลากหลายของภาษาที่ใช้ออนไลน์อาจทำให้อีกหลายภาษาตายและสูญหายไปได้

ก่อนหน้านี้ ฮอลลี ยัง บรรณาธิการของ the Case for Language Learning ได้ตีพิมพ์บทความลงบนเว็บไซต์ของ The Guardian ที่อธิบายว่า ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 เนื้อหาบนเว็บไซต์ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษถึงร้อยละ 80 ขณะที่ปัจจุบันร้อยละ 80 ของเนื้อหาออนไลน์ถูกครอบงำโดย 10 ภาษา ส่วนที่เหลือใช้ภาษาอื่นๆ 120 ภาษา หมายความว่า ขณะที่ภาษาที่มีใช้บนโลกจริงมีอยู่ถึง 6,000 ภาษา แต่มีเพียง 130 ภาษาที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

แดเนียล ปราโด นักวิจัยด้านความหลากหลายทางภาษาเคยกล่าวไว้เมื่อปี 2012 ว่า กูเกิลรับรองภาษาในยุโรป 30 ภาษา แต่รับรองภาษาแอฟริกันเพียง 1 ภาษา และไม่รับรองภาษาของคนกลุ่มน้อยในทวีปอเมริกา หรือภาษาแถบแปซิฟิกเลย ซึ่งความไม่เท่าเทียมด้านข้อมูลบนโลกออนไลน์บ่งชี้ว่า ใครและอะไรบ้างที่มีตัวตนบนโลกออนไลน์

ด้านมาร์ก แกรห์ม จากสถาบันอินเทอร์เน็ตอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ประเทศร่ำรวยมีอำนาจในการให้คำนิยามของตัวเองผ่านการบันทึกข้อมูลของตัวเองบนโลกออนไลน์ ขณะที่ประเทศยากจนมักเป็นผู้ที่ได้รับคำนิยามจากคนอื่น เนื่องจากตัวเองไม่มีโอกาสเข้าถึงโลกออนไลน์ได้

ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้เปลี่ยนไปจากจำนวนภาษาที่ใช้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธรรมชาติของภาษาด้วย เช่น การที่ทวิตเตอร์จำกัดตัวอักษร หมายความว่า คนที่ใช้ภาษาจีนสามารถเขียนได้ยาวกว่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะตัวอักษรจีน 1 ตัวมีความหมายในตัวเอง ต่างจากภาษาอังกฤษที่ต้องประสมตัวอักษรหลายตัวขึ้นมาเป็นคำ และยังต้องเว้นวรรคระหว่างคำอีกด้วย

การศึกษากรณีตัวอย่างเกี่ยวกับเขตเวสต์แบงก์เมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่า อัลกอริทึมของกูเกิลมีอิทธิพลกับการมองโลกของผู้ใช้อย่างมาก ผลการค้นหาร้านอาหารในเขตเวสต์แบงก์แตกต่างกันออกไปเมื่อใช้คำค้นเป็นภาษาฮีบรู อาหรับ และอังกฤษ แกรห์มสรุปผลการศึกษานี้ว่า กูเกิลไม่สามารถจะลอยตัวและกล่าวโทษไปที่อัลกอริทึมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อมีคนตั้งคำถามว่าทำไมข้อมูลที่แสดงออกมาจึงแตกต่างกัน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร กูเกิลก็ถือเป็นผู้กำหนดทิศทางการรับรู้ของคนหลายล้านคนต่อเมืองต่างๆได้

ในปี 2011 สหประชาชาติประกาศว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ประสบการณ์และประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในฐานะแหล่งข้อมูลกลับไม่เท่าเทียมกัน แม้เทคโนโลยีจะช่วยเก็บรักษาและสอนภาษาที่ใกล้สูญหาย แต่ขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ทำให้ภาษาของคนที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าครองพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: