นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความต้องการไฟฟ้าสูงในช่วงกลางคืน และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานหลักที่ผลิตได้ 24 ชั่วโมง ควบคู่กัน ขณะเดียวกัน ยังรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง โดยเปิดรับซื้อแล้วมากกว่า 730 เมกะวัตต์ และล่าสุด เปิดรับซื้อเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์
ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA (อีเอชไอเอ) 2 ชุด คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือเทพา ตามข้อกำหนดของ สผ. ที่ต้องแยกการพิจารณาตามคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กฟผ. ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้เข้าร่วม 3,860 คน
ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำร่างรายงาน EHIA เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย 708 คน และมีการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 1,461 ตัวอย่าง
ครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงาน EHIA เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 6,498 คน
โครงการท่าเทียบเรือเทพา
ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้เข้าร่วม 3,805 คน
ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำร่างรายงาน EHIA เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย 708 คน และมีการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 1,433 ตัวอย่าง
ครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงาน EHIA เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 6,121 คน
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงไฟฟ้า ตามที่ สผ. กำหนด
ซึ่ง กฟผ. ใช้เวลาศึกษาและจัดทำ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ประมาณ 1 ปี จากนั้น คชก. ใช้เวลาพิจารณารายงาน EHIA อีก 1 ปี 10 เดือน รวมเป็นเวลาเกือบ 3 ปี คชก. จึงพิจารณาว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวครบถ้วน ซึ่งจากนี้จะนำรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ สผ. อีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป