ไม่พบผลการค้นหา
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เข้าร่วมงานฉลองวันครบรอบการประสูติปีที่ 350 ของซาร์ปีเตอร์มหาราช ท่ามกลางภาพเปรียบเทียบว่าปูตินกำลังทำภารกิจยึดคืนดินแดนของรัสเซีย อย่างที่อดีตซาร์เคยกระทำมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

“ปีเตอร์มหาราชเข้าทำมหาสงครามในทางตอนเหนือกว่า 21 ปี เหมือนกับว่าพระองค์จะทำสงครามกับสวีเดน พระองค์ยึดบางอย่างมาจากพวกเขา พระองค์ไม่ได้เอาทุกอย่างมาจากพวกเขา พระองค์เอา (สิ่งที่เป็นของรัสเซีย) คืนมา” ปูตินกล่าวถึงอดีตซาร์ของรัสเซียขณะเยือนนิทรรศกาล

ประธานาธิบดีรัสเซียยังได้เปรียบเทียบสงครามยูเครนในวันที่ 106 ณ ตอนนี้ เข้ากับการรบของซาร์ปีเตอร์ในอดีต “เห็นได้ชัดว่า มันตกมาที่พวกเราในการทวงคืน (สิ่งที่เป็นของรัสเซีย) และเสริมความแข็งแกร่ง (ประเทศ) และถ้าเราดำเนินการทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริง ที่วางอยู่บนพื้นฐานทางคุณค่า จากพื้นฐานของการดำรงอยู่ของเรา เราจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนในการจัดการกับภาระที่เรากำลังเผชิญอยู่” ปูตินกล่าว

ปัจจุบันนี้ ปูตินดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัสเซียมาแล้ว 23 ปี โดยประธานาธิบดีรัสเซียคอยพูดสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองซ้ำๆ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ ถึงการที่รัสเซียได้สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ในยูเครนหลายพันราย รวมถึงบ้านเมืองที่เสียหายจากการถูกยิงด้วยขีปนาวุธ ปูตินมักพูดซ้ำๆ อีกว่า ยูเครนไม่เคยมีอัตลักษณ์ของความเป็นชาติที่แท้จริง หรือการเป็นรัฐจารีตใดๆ มาตั้งแต่อดีต

ซาร์ปีเตอร์เคยปกครองรัสเซียในอดีตเป็นเวลา 43 ปี ก่อนการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ซาร์ปีเตอร์มหาราชเป็นที่นิยมทั้งในประชาชนรัสเซียฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ เลนินกราดในอดีตยังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อยกย่องอดีตซาร์พระองค์นี้ จากการที่พระองค์เคยสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ยึดมาจากสวีเดนได้ โดยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเองเป็นเมืองบ้านเกิดของปูตินด้วย

อย่างไรก็ดี การสร้างเมืองที่ยึดมาได้จากสวีเดนของซาร์ปีเตอร์ กลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของไพร่ทาสกว่าหลายหมื่นชีวิต ซึ่งถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานในการสร้างเมือง “ประตูสู่ยุโรป” ของซาร์ปีเตอร์ โดยก่อนการเยือนนิทรรศกาลในครั้งนี้ของปูติน โทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซียได้ฉายสารคดีเพื่อยกย่องซาร์ปีเตอร์มหาราช ด้วยการยกย่องว่าพระองค์เป็นผู้นำทหารอันแข็งแกร่ง ผู้ขยายดินแดนรัสเซียออกไปอย่างกว้างไกลถึงสวีเดนและออตโตมาน ด้วยกองทัพที่ทันสมัย และกองเรือที่พระองค์เป็นคนสร้างขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปูตินเริ่มยกบทบาทของตนเองเทียบกันกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม โดยในช่วง เม.ย. 2563 ที่รัสเซียเริ่มประกาศล็อกดาวน์จากการะบาดของโควิด-19 เป็นครั้งแรก ปูตินได้เทียบการเข้ามาของเชื้อไวรัสว่าไม่ต่างอะไรไปจากการรุกรานของกลุ่มคนเถื่อนชาวเติร์กช่วงศวรรษที่ 9 ในช่วงยุคกลางของรัสเซีย ซึ่งออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ของรัสเซีย

เช่นเดียวกันกับเดือน ก.ค. 2564 รัฐบาลรัสเซียได้ตีพิมพ์ข้อเขียนของปูตินยาวกว่า 7,000 คำ ที่มีชื่อหัวข้อว่า “ว่าด้วยความเป็นเอกภาพทางประวัติศาสตร์ของชาวรัสเซียและชาวยูเครน” โดยในข้อเขียนนั้น ปูตินพยายามถกเถียงว่ารัสเซียและยูเครนเป็นชาติเดียวกัน แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้แยกจากกัน ข้อเขียนดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการปูพื้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

รัสเซียพยายาสร้างความชอบธรรมในการรุกรานยูเครน ด้วยข้ออ้างของ “การถอนระบอบนาซี” ออกจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้มีหลักฐานยืนยันคำพูดของตนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ปูตินยังเคยกล่าวโทษ วลาดิเมียร์ เลนิน อดีตผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิคและอดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ที่สร้างให้พื้นที่ยูเครน ซึ่งปูตินบอกว่าเคยเป็นพื้นที่ของรัสเซียตามประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นสถานที่ปลูกธัญพืช ซึ่งเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในเวลาต่อมา

ในทางตรงกันข้าม ปูตินมักกล่าวชื่นชม โจเซฟ สตาลิน จอมทรราชเผด็จการของสหภาพโซเวียต จากการ “รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มงวด และการสร้างเอกภาพกับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ” ถึงแม้ว่าปูตินเองจะทราบดีว่าอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตเป็นภาพแทนของ “ระบอบอำนาจนิยม” ปูตินยังกล่าวชื่นชมอดีตซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม และ ปิออตร์ สโตลีปิน นักปฏิวัติก่อนการปฏิวัติรัสเซีย ที่ทางการรัสเซียได้สร้างอนุสาวรีย์ของทั้งสองเอาไว้ทั่วทั้งประเทศ


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/10/putin-compares-himself-to-peter-the-great-in-quest-to-take-back-russian-lands?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR3E5VLVfHYrDZCvwz6haBfdyF0zGxilq17eDQoGj2olIe7hqIjMoGIbk9s