ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายฯ ลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด เรียกร้องรัฐฯ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หลังแม่น้ำโขงผันผวนหนัก กระทบเกษตรกรรม-ประมง-ท่องเที่ยว

เครือข่ายฯ ลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด วอนประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ หลังน้ำโขงผันผวนหนักสุดในรอบหลายปี ทำประมง เกษตร ท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนัก คาดปลาในแหล่งน้ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 10

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของแม่น้ำโขงในปีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำแล้งในฤดูฝนส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่สามารถวางไข่ได้ ขณะที่ปลาเล็กหนีลงน้ำลึกไม่ทันก็ตายจำนวนมาก ถือว่าเป็นการล้างผลาญระบบนิเวศอย่างหนักแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยชาวประมงในพื้นที่ประมาณการว่าจำนวนปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขงตอนนี้เหลือไม่ถึงร้อยละ 10


AP-หาปลา-ทอดแห-ประมง-ประมงน้ำจืด-กัมพูชา-จับปลา-อาเซียน

ความผิดปกติของน้ำโขงยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง และเกษตรกรที่ปลูกพืชบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการประปา ทำให้ขณะนี้ทั้งเมืองกลายเป็นพื้นที่น้ำประปาไหลอ่อน ถือว่าเป็นการผันผวนที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน ทำให้ตั้งรับไม่ทัน เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวน้ำโขงชินกับน้ำขึ้นลงตามฤดูกาล ไม่ได้ชินกับการขึ้นลงแบบเดียวกับน้ำทะเล

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะที่ผ่านมาการแจ้งเตือนภัยค่อนข้างล่าช้า มีข้อมูลแจ้งมาจากทางการจีนเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2562 ถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วันที่ 4 ก.ค. แจ้งไปที่ผู้ว่าราชการ 7 จังหวัด หลังวันที่ 4 แต่มีการประกาศเตือนภัยในจังหวัดเลยเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 18 ก.ค. 62

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา
  • อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

“อยากให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติไปเลย เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่รู้จะบอกใครว่าเสียหายเท่าไหร่ แบบไหน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ปภ. เกษตรฯ ประมง หรือว่าผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเริ่มต้นเซ็ตระบบข้อมูลร่วมกันว่าอะไรหายไปเท่าไหร่ ต้องเริ่มต้นเรื่องข้อมูลร่วมกัน” นางอ้อมบุญกล่าว

นางอ้อมบุญปิดท้ายว่า การแก้ไขปัญหาความผันผวนของน้ำโขงจะต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ชุมชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องมีการตั้งระบบร่วมกัน เพื่อให้มีการแจ้งเตือนภัย การฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ การสร้างรีสอร์ตให้ปลาแห่งใหม่ การทำเขตอนุรักษ์วังปลา เพื่อจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน

ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลว่า โดยปกติ แม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาขาจะมีความเกี่ยวพันกันโดยตรง ถ้าน้ำโขงแห้งก็จะดึงให้แม่น้ำสาขาแห้งด้วย ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ในเชิงวิชาการว่าจะทำอย่างไรให้ไปรอดทั้งชาวบ้าน ชาวประมง และกรมประมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :