ไม่พบผลการค้นหา
'ยิ่งลักษณ์' โพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจเกษตรกรที่กำลังประสบภัยแล้ง ขออดทนฝ่าฟันอุปสรรค เผยห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมา ด้านกรมชลฯ เร่งสูบน้ำช่วยเหลือ ส่วนการประปาสุรินทร์ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงปัญหาภัยแล้งที่เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า วันก่อนได้อ่านข่าว ทราบว่าตอนนี้พี่น้องประชาชนในภาคอีสานและหลายพื้นที่ของประเทศไทย กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้พืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศประสบปัญหาฝืดเคือง ทำให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ และประชาชนอีกมากมายต้องเผชิญกับความลำบากยากเข็ญ

"ดิฉันรู้สึกเห็นใจ และอยากเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคน ที่ต้องต่อสู้อดทนกับสถานการณ์ในห้วงเวลานี้ รวมถึงเป็นห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมา ดิฉันขอให้ทุกคนมีกำลังใจ อย่าเพิ่งท้อถอย และขอให้อดทนเพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้นะคะ" นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุ

กรมชลฯ สูบน้ำช่วยเหลือการประปาสุรินทร์-จัดหาแหล่งน้ำสำรอง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ เพื่อการผลิตน้ำประปาในเขตอำเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยการสูบน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำลดลงต่ำมากจนน้ำไม่สามารถไหลเข้าสถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคสุรินทร์ได้ ต้องทำการขุดร่องชักน้ำจากบริเวณแหล่งน้ำที่ค้างอยู่ในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ให้ไหลเข้าสู่จุดสูบน้ำของการประปาฯ ในอัตรา 20,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งปริมาตรน้ำที่มีอยู่สามารถผลิตน้ำประปา ได้อีกประมาณ 1 เดือน

กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการจัดแหล่งน้ำสำรองมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบ่อหิน ที่อยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงไปประมาณ 12 กิโลเมตร ด้วยการสูบน้ำจากบ่อหินเข้าคลองบ้านตรม โดยใช้เครื่องสูบน้ำ แบบ Submersible Sewage ขนาด 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านท่อส่งน้ำขนาด 16 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และสูบต่อด้วยเครื่องสูบน้ำระยะไกลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีศักยภาพสูบน้ำได้ประมาณ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 2 เครื่อง

67433996_3184864708253214_3845968086276505600_n.jpg

สำหรับการสูบน้ำจากบ่อหินที่มีความสูงของตลิ่งประมาณ 15 เมตร เครื่องสูบน้ำแบบติดตั้งเหนือผิวน้ำจะไม่สามารถใช้งานได้ จึงเลือกใช้เครื่องสูบน้ำแบบจุ่ม ขนาด 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที่ ระยะยกน้ำ 40 เมตร ขนาดท่อส่งน้ำ 16 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตเมืองสุรินทร์ได้เป็นอย่างมาก จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย

ด้านในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ กรมชลประทาน ยังคงเร่งดำเนินการบรรเทาปัญหาภัยแล้งโดยขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปา พร้อมกับสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มายังบริเวณจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคให้ได้มากที่สุด รวมทั้งผันน้ำจากเหมืองหินเก่าไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ระบายน้ำช่วยพื้นที่ท้ายน้ำ

พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ นายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวลงพื้นที่เข้าติดตามสถานการณ์น้ำและการส่งน้ำให้กับประชาชน และเกษตรกร รวมทั้งการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำปาวของเขื่อนลำปาว หลังจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เขื่อนลำปาวเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง

อีกทั้ง จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่างๆ ทั้ง 18 แห่ง และเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นอย่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นั้น สามารถสนับสนุนส่งน้ำในการอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชนได้มากกว่า 30 วัน ซึ่งยังไม่เข้าสู่วิกฤติ โดยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งภาพรวมน้ำในเขตชลประทาน อยู่ที่ระดับ 425.33 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 น้ำนอกเขตชลประทาน อยู่ที่ระดับ 171.48 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 49

อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทหน่วยงานต่างๆ ได้มีการลงพื้นที่ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าใจถึงสถานการณ์และใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่ามากที่สุด

พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สำหรับพื้นที่การทำนาของเกษตรกรนอกเขตชลประทานที่กำลังประสบปัญหาต้นข้าวขาดน้ำแห้งเฉา เนื่องจากฝนทิ้งช่วงนั้น ขณะนี้ทางรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทีมฝนหลวงนำเครื่องขึ้นบิน ทำฝนหลวงให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีต้นข้าวที่กำลังจะแห้ง ทำให้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาฝนเริ่มตกในหลายพื้นที่บางแล้ว ซึ่งสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามทราบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าทีมฝนหลวงยังคงทำงานขึ้นบินทำฝนหลวงอยู่ตลอดเวลา

vlcsnap-2019-07-24-10h46m24s73.jpg

ด้านนายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมาทำให้ลำน้ำปาวยาวไปจนถึงแม่น้ำชีในเขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด จนถึง จ.ยโสธร มีสภาพปริมาณน้ำน้อยทำให้หลายพื้นที่มีผลกระทบกับระบบประปา ดังนั้นทางเขื่อนลำปาวได้เพิ่มการส่งน้ำเข้าไปยังลำน้ำปาวเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลิตน้ำอุปโภค บริโภคจากเดิมเฉลี่ยวันละ 400,000 ลบ.ม.ต่อวันเป็น 800,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยได้เริ่มส่งมาตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะส่งน้ำในลักษณะดังกล่าวไปจนกว่าฝนจะตกลงมาในพื้นที่ และสถานการณ์เริ่มดีขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของการส่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในพื้นที่ชลประทานผ่านคลองส่งน้ำของเขื่อนลำปาวนั้นยังคงมีการส่งน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 ล้าน ลบ.ม.และจะมีมาตรการจัดระบบส่งน้ำแบบรอบเวรและแบ่งปัน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์ของเขื่อนลำปาว ล่าสุดมีน้ำไหลเข้าอ่าง 2.88 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 482.15 ล้าน ลบ.ม.จากความจุ 1,980 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 24.35 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้หากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงยาวนานไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ก็จะเข้าสู่ระดับการเฝ้าระวังน้ำน้อย ซึ่งประชาชนและเกษตรกรจะต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :