ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยยืนยัน 2 รายแรกของไทย ไปพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค - "อนุทิน" เตรียมเสนอประกาศเป็น 'โรคติดต่อร้ายแรง' แต่ยันประชาชนใช้ชีวิตปกติ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีข่าวดี ผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 2 ราย ชายชาวจีน อายุ 56 ปี และอายุ 34 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร เหลือนอนในโรงพยาบาล 16 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 19 ราย 

ส่วนผู้ป่วยใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด อาการคงที่ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย ยังตรวจพบเชื้ออยู่ อาการคงที่ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจทั้ง 2 ราย ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง 

ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทย จากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันทำการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ค้นพบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของประเทศไทย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในหลอดทดลอง ซึ่งจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะทำการขยายผลต่อไป

สำหรับกรณีผู้ป่วย Super Spreader ที่พบจากการรายงานข่าวในต่างประเทศนั้น จะเป็นผู้ที่มีเชื้อในร่างกายจำนวนมากสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ ลักษณะดังกล่าวนี้ ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถตรวจจับผู้อาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและนำมาแยกเก็บตัวไว้ในห้องแยกได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ไปแพร่สู่ผู้อื่นได้  

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สามารถบังคับผู้ที่สงสัยว่าป่วยนำเข้ามาสู่ระบบการรักษาได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจและให้ความร่วมมือกับทางราชการ เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ ส่วนการติดตามผู้โดยสารและลูกเรือชาวไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส 3 ราย ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และออกจากเรือเรียบร้อยแล้ว  

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดของโรค หากจำเป็นต้องไป ขอให้ระมัดระวัง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือเจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เมื่อไปอยู่ในที่คนจำนวนมาก เมื่อกลับประเทศไทย ทุกคนจะผ่านการคัดกรองที่สนามบิน ในส่วนผู้ที่ไม่มีไข้ อาการไม่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ขอแนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หากป่วย มีไข้ไอ มีน้ำมูก ภายใน 14 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง หากพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค จะถูกนำไปตรวจเพิ่มที่โรงพยาบาล

วัคซีน.jpg

ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด -19 หวังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 2019 รายแรกและรายที่สองของประเทศไทย ไปถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นำมาพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคนิค Real time RT –PCR พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งแบ่งปันเชื้อให้องค์การอนามัยโลกนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้พร้อมรับมือสถานการณ์ระบาดฉุกเฉิน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ 5 ม.ค. – 20 ก.พ. 2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ รวม 1,489 ตัวอย่าง 

ด้านนพ.ปราโมทย์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม โดยในวันที่ 25 ก.พ. 2563 จะมีการลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร รวมถึงสมุนไพรอื่น เพื่อดูกลไก ประสิทธิภาพของสมุนไพรไทยต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเดิมได้มีการศึกษาเรื่องสารสกัดฟ้าทะลายโจรอยู่แล้วว่ามีฤทธิ์ในเชิง Antiviral broad spectrum เช่น ฤทธิ์การต้านไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ การเพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือการต้านการอักเสบ ทำให้มีการใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน 

ประยุทธ์ อนุทิน ศักดิ์สยาม ไวรัส โคโรนา สุวรรณภูมิ 53703000000.jpg

'อนุทิน' แจงประกาศ 'โควิด-19' เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เพื่อเจ้าหน้าที่ทำงานสะดวก

ในขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมจึงมีการเสนอให้โควิด -19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และเมื่อประกาศไปแล้วจะมีผลอย่างไรตามมานั้น นายอนุทิน ชี้แจงไว้ว่า การออกประกาศว่าโรคใดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง จะทำเมื่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อมีมติของที่ประชุมแล้วนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามประกาศ 

โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อส่วนใหญ่ คือ แพทย์ผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดี หากจะต้องมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ประชาชนทั่วไปก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติเหมือนทุกวัน

การประกาศ เป็นฐานให้บังคับใช้ข้อกำหนดในกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อได้โดยสะดวก เมื่อมีความจำเป็น เช่น การประกาศว่าเมืองใด ในประเทศใด เป็นเขตติดโรค เพื่อใช้มาตรการคัดกรอง หรือกักกันผู้เดินทางจากเมืองนั้นๆด้วยความเร่งด่วน ก็จะสามารถกระทำได้ทันที การประกาศเรื่องนี้จะยังผลให้เกิดความมั่นใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่ามีกฎหมายรองรับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ย่อมได้รับคุ้มครองการปฏิบัติงานหากกระทำไปด้วยเจตนารมณ์ที่สุจริตเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเหล่านี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 ครั้ง และในที่สุดเราก็จัดการกับมันได้ทุกครั้ง โรคเหล่านี้ก็ไม่เคยกลับมากล้ำกรายพวกเราอีกเลย ต่อให้มันกลับมา เราก็มีความสามารถที่จะจัดการกับมันได้ โดยสรุป การประกาศนี้ทำให้เจ้าหน้าที่การสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ไม่มีอะไรต้องหวั่นหรือวิตก