ไม่พบผลการค้นหา
‘ยุทธพงศ์’ แฉ ‘สันติ’ ทุจริต-เอื้อประโยชน์เอกชน คัดเลือกโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีไม่โปร่งใส ทำประชาชนใช้น้ำแพง ลดศักยภาพการแข่งขัน ย้ำเรื่องนี้ถึง ป.ป.ช. แน่ เล็งสอยไปถึง ‘อาคม’ ด้วย ด้าน 'สันติ' ข้องใจ 'ยุทธพงศ์' รับงานอีสท์วอเตอร์มาซักฟอกหรือไม่ ปัดเอื้อประโยชน์เอกชน

วันที่ 20 ก.ค. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน เป็นวันที่สอง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปราย สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรณีสืบเนื่องจากระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งกรมธนารักษ์ได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะมอบหมายให้บริษัท อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้บริหาร โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 จนกระทั่งเมื่อ 11 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้รวมสัญญาการบริหารของทั้ง 3 โครงการไว้เป็นสัญญาเดียวกัน เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์ต้องคัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อมาบริหารจัดการระบบ แต่ไม่เปิดประมูลทั่วไป

ยุทธพงศ์ อธิบายต่อไปว่า การคัดเลือกเอกชนมาบริหาร สะท้อนเจตนาจะหนี พ.ร.บ.ร่วมทุน จงใจทำผิดกฏหมาย ขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลัง ถือเป็นใบเสร็จของ สันติ ในฐานะประธานคณะกรรมการในที่ราชพัสดุ

ซึ่ง ยุทธพงศ์ ยังได้เตือนถึง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่รอดพ้นข้อกล่าวหา แม้ว่าท่านจะเป็นผู้มอบหมาย สันติ ก็ตาม นอกจากนี้ ยังเป็นการทุจริตเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จนได้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพมาบริหารโครงการ และเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อนต้องจ่ายค่าน้ำแพง พร้อมเป็นการทำลายศักยภาพการแข่งขันของท่อส่งน้ำ EEC

จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นประธานฯ ได้ออกประกาศเชิญชวน 5 บริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติ จำนวน 5 ราย เข้าร่วมการคัดเลือก ในจำนวนนั้นมีบริษัท อีสท์วอเตอร์ รวมอยู่ด้วย

ยุทธพงศ์ ชี้ข้อพิรุธว่า มีบริษัท 2 รายที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และยังไม่ได้มีการเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำน้ำประปาในประเทศไทยโดยตรงเข้าร่วมการคัดเลือกแต่อย่างใด โดยเมื่อ 13 ส.ค. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท อีสท์วอเตอร์ ได้รับคะแนนสูงสุดตามเกณฑ์การคัดเลือก หรือ TOR

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับมีหนังสือแจ้งในเวลาต่อมา ว่าหลักเกณฑ์ TOR นั้นมีความไม่ชัดเจน ส่งผลให้ บริษัท อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ชนะอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการยกเลิกผลการคัดเลือก ด้วยเหตุนี้ บริษัท อีสท์วอเตอร์ จึงฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 26 ส.ค. 2564 หลังจากนั้นก็ได้มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นชุดใหม่ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและผิดปกติ หรือเป็นเพราะว่าได้บริษัทที่ไม่ตรงตามที่ต้องการ

คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงจัดให้มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยเชิญชวน 5 บริษัทเดิม แต่ได้ปรับหลักเกณฑ์ใน TOR ซึ่งยุทธพงศ์ ชี้ว่า เป็นการลดมาตรฐานความน่าเชื่อถือทางการเงินของ และคุณสมบัติด้านเทคนิกของบริษัทให้ต่ำลง เช่น ปรับลดทุนจดทะเบียนและหนังสือวงเงินรับรองสินเชื่อของบริษัทให้น้อยลง ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้าม คือต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา 

“ผู้ยื่นข้อเสนอที่จะได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ คือเอาซองราคาซองที่ 3 เท่านั้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่ง สันติ เป็นประธาน ที่ใช้วิธีคัดเลือกเพื่อต้องการให้ได้ผู้ชนะที่มีเทคนิคสูง แต่ท่านกลับเอาคะแนนซองเทคนิกทิ้ง เหมือนการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า ท่านไม่เอาแล้วเทคนิก ท่านเอาแต่ราคา ผมจึงมากล่าวหาว่าท่านเอื้อประโยชน์ ทุจริต”

และผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้คะแนนอันดับ 1 เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด จนเป็นผู้ชนะการคัดเลือก ทั้งที่ไม่ใช่บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือด้านการบริหารจัดการน้ำโดยตรง อีกทั้งความน่าเชื่อถือทั้งด้านสภาพการเงิน และประสบการณ์ทำงาน ก็เทียบไม่ได้กับบริษัท อีอีซี ที่น่าเชื่อถือกว่า

ยุทธพงศ์ ย้ำว่า ตนไม่ได้รู้จักกับบริษัททั้ง 2 เป็นการส่วนตัว แต่ต้องการให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภคอย่างเป็นธรรม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันใน EEC ถ้า สันติ ปล่อยให้มีการลงนามในสัญญา ตนจะยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาล ทั้ง อาคม และ สันติ ในลำดับต่อไป

สันติ ประชุมสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ -36DE2DE0FD54.jpeg

‘สันติ’ โต้เดือด ‘ยุทธพงศ์’ รับงาน อีสท์ วอเตอร์ เอนเอียง-อคติเกินไป

จากนั้น สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า ตนได้เคยชี้แจงไปว่า อีสท์วอเตอร์ ไม่ใช่บริษัทรัฐวิสาหกิจแล้ว เป็นเอกชนเต็มตัว จึงต้องเข้ามาแข่งขันกันตามปกติ ซึ่ง อีสท์วอเตอร์ ได้มีสัญญากับกรมธนารักษ์ ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 ดังนั้น การจะจัดหาบริษัทมาบริหารท่อส่งน้ำอย่างกระชั้นชิดอาจไม่ทันการณ์ อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านชลประทาน จึงว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะแนวทางยกเว้นการประมูล และคัดเลือกเอกชนพร้อมกำหนดเงื่อนไข เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับเอกชน ซึ่งกรมธนารักษ์เห็นพ้องด้วย

ส่วนการเชิญบริษัทต่างๆ ก็ใช้วิธี Market Sounding รวมถึงมีผู้แสดงความสนใจเสนอตัว แม้กรมธนารักษ์ไม่ได้เชิญ และบางบริษัทก็ปฏิเสธเข้าร่วมแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือกครั้งแรก ตารางข้อเสนอ หรือ TOR มีความไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้กำหนดปริมาณน้ำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ศึกษาไว้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงไม่สามารถชี้ขาดตัดสินว่าบริษัทใดจะเป็นผู้ชนะได้ และจำเป็นต้องปรับ TOR และเชิญ 5 บริษัทเดิมเข้าสู่การคัดเลือกอีกครั้ง

และเมื่อ อีสท์ วอเตอร์ ได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวในกรณีดังกล่าว ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่ามีเหตุอันควรทางราชการให้ยกเลิกผลการคัดเลือกครั้งแรก และสามารถจัดการคัดเลือกใหม่ได้ จึงเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการและตัดสินใจอย่างถูกต้อง ขณะที่ อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนั้นก็สามารถเข้าร่วมคัดเลือกได้อีกครั้งเช่นกัน ส่วนการคัดเลือกครั้งที่ 2 ซึ่ง วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนนสูงสุดนั้น เพราะจากการคำนวณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท วงษ์สยามฯ มีรายผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าบริษัทอื่นอย่างเห็นได้ชัด

“30 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์ จ่ายผลประโยชน์ให้รัฐ 600 ล้านบาทเศษ แต่ 30 ปีจากนี้ไป เขาจ่ายตั้ง 2.5 หมื่นล้านบาท ท่านพยายามกดดันให้ยกเลิก แล้วเปิดประมูลใหม่ ผมถามว่า ถ้าเปิดประมูลใหม่แล้ว และมีการยื่นข้อเสนอมาเหมือนครั้งแรก คือ 9 พันกว่าล้านบาท ใครจะรับผิดชอบเงินของรัฐที่ขาดหายไป ผลประโยชน์ของชาติหายไปไหน ผมจะฟ้องประชาชน” สันติ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ไม่เปิดประมูลทั่วไป เพราะโครงการนี้มีความสำคัญยิ่ง จึงต้องเชิญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคัดเลือก ซึ่งกรมธนารักษ์ก็เห็นพ้องกัน กลายมาเป็นที่มาของการคัดเลือกบริษัทเอกชนตามขั้นตอนดังกล่าว นอกจากนี้ ก่อนการเปิดประมูลสรรหา กรมธนารักษ์ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโครงการ ยังมีปรากฏว่า เมื่อ 6 พ.ค. 2565 กรมธนารักษ์ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อบริษัท อีสท์ วอเตอร์ ที่สั่งการเจ้าหน้าที่ให้ทำงานจากที่บ้าน ไม่ต้องเข้าพื้นที่ เพื่อให้ไม่ต้องให้ข้อมูลกับคณะกรรมการของกรมธนารักษ์ อีกทั้งมีกรณีตัดต่อท่อส่งน้ำที่มีไว้เดิม อาจเป็นการหมกเม็ดหรือไม่

จวก ‘ยุทธพงศ์’ เอนเอียง รับงานอีสท์วอเตอร์ หรือไม่

ทำให้ ยุทธพงศ์ ใช้สิทธิประท้วงว่า ขอให้ควบคุมการชี้แจงให้อยู่ในประเด็น ขณะนี้เหมือนท่านรัฐมนตรีกำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจบริษัท อีสท์วอเตอร์ อยู่ อีกทั้งยังใช้เวลาไปนานกว่าที่ตนอภิปรายด้วย

จากนั้น สันติ จึงตอบโต้ว่า ยุทธพงศ์ รู้ข้อมูลมากไปกว่าตนได้อย่างไร แสดงว่ามีใครรับงานมาจาก อีสท์วอเตอร์ หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ สัญญาก็ยังไม่เซ็น แล้ว ยุทธพงศ์ มากล่าวหาได้อย่างไร ท่านทำไมถึงเอนเอียงได้ขนาดนี้

“ถ้าท่านกินเงินเดือนของประชาชน ท่านต้องไปตรวจสอบสิว่า ผลประโยชน์ที่ท่านพูดถึงตั้งหลายหมื่นล้านบาท หายไปไหน ใครเอาไป โดยเฉพาะบริษัท อีสท์ วอเตอร์ มีบริษัทต่างชาติถือหุ้นอยู่กว่า 25% เห็นไหมว่าเงินไหลออกนอกประเทศไปเท่าไหร่ จ่ายให้กับรัฐเพียง 600 ล้านบาท อีก 2 หมื่นกว่าล้านบาทหายไปไหน ผมกับท่านจับมือกัน ช่วยกันไปดูดีกว่าไหม ว่ามีการฉ้อโกงอะไรเกิดขึ้น”

“ผมขอเรียนท่านตรงๆ ว่า ทั้งอีสท์วอเตอร์ ก็ดี วงษ์สยาม ก็ดี ไม่เคยรู้จักกับผม ไม่เคยโทร ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ 100% ทำไมผมต้องไปเอื้อใคร ผมเอื้อประโยชน์ให้พี่น้องชาวตะวันออกเต็มที่ ผมมีฐานะของผมพอสมควรอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเอื้อใคร” สันติ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ในขณะที่ สันติ กำลังชี้แจง ได้มีเสียงหวอของสัญญาณเตือนอัคคีภัยดังขึ้นในห้องประชุมเป็นเวลาประมาณ 40 วินาที จนการอภิปรายชะงักไป ซึ่งต่อมา สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น แจ้งว่า เกิดจากระบบเตือนภัยผิดพลาด ไม่ต้องตกใจอะไร