ไม่พบผลการค้นหา
‘ยุทธพงศ์’ แฉกลโกง ‘3 ป.’ - ‘1 รมช.’ รวมหัวตุกติกโครงการท่อส่งน้ำ เอื้อผลประโยชน์เข้ารัฐ ส่อทำ บ.อีสต์ วอเตอร์ ล้มละลาย ย้ำนี่แค่น้ำจิ้ม เปิดสภาฯ เตรียมเจอของจริง

วันที่ 13 มี.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และ อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประจำสัปดาห์ เรื่อง ความไม่โปร่งใส ของโครงการท่อส่งนํ้า 3 สัญญา โดย กรมธนารักษ์ ซึงมีความเกี่ยวข้องกับ ‘3.ป.’ และ ‘1. ช.’ ส่งผลต่อกิจการของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘อีสต์ วอเตอร์’ (East Water)

สืบเนื่องจากระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก อันประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ แหลมฉบัง ซึ่งกรมธนารักษ์ได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะมอบหมายให้บริษัท อีสต์ วอเตอร์ เป็นผู้บริหาร โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งกำหนดอายุสัญญาไว้เป็นเวลา 30 ปี สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 จนกระทั่งเมื่อ 11 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้รวมสัญญาการบริหารของทั้ง 3 โครงการไว้เป็นสัญญาเดียวกัน เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์ต้องคัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อมาบริหารจัดการระบบ

650403.jpg


จากนั้นเมื่อ 16 ก.ค. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นประธานฯ ได้ออกประกาศเชิญชวน 5 บริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติ จำนวน 5 ราย เข้าร่วมการคัดเลือก ในจำนวนนั้นมีบริษัท อีสต์ วอเตอร์ รวมอยู่ด้วย แต่ ยุทธพงศ์ ชี้ข้อพิรุธว่า มีบริษัท 2 รายที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และยังไม่ได้มีการเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำน้ำประปาในประเทศไทยโดยตรงเข้าร่วมการคัดเลือกแต่อย่างใด โดยเมื่อ 13 ส.ค. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท อีสต์ วอเตอร์ ได้รับคะแนนสูงสุดตามเกณฑ์การคัดเลือก หรือ TOR อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับมีหนังสือแจ้งในเวลาต่อมา ว่าหลักเกณฑ์ TOR นั้นมีความไม่ชัดเจน ส่งผลให้ บริษัท อีสต์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการยกเลิกผลการคัดเลือก ด้วยเหตุนี้ บริษัท อีสต์ วอเตอร์ จึงฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 26 ส.ค. 2564 

จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงจัดให้มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยเชิญชวน 5 บริษัทเดิม แต่ได้ปรับหลักเกณฑ์ใน TOR ซึ่งยุทธพงศ์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นการลดมาตรฐานความน่าเชื่อถือทางการเงินของ และคุณสมบัติด้านเทคนิกของบริษัทให้ต่ำลง เช่น ปรับลดทุนจดทะเบียนและหนังสือวงเงินรับรองสินเชื่อของบริษัทให้น้อยลง ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้าม คือต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา โดย 30 ก.ย. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกาศผลว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้คะแนนอันดับ 1 เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด จนเป็นผู้ชนะการคัดเลือก และแม้คำสั่งศาลปกครองกลาง ในกรณีที่บริษัท อีสต์ วอเตอร์ ฟ้องร้องยังไม่ออก แต่คณะอนุกรรมการราชพัสดุ กลับนัดประชุมพิจารณาผลการคัดเลือกในวันที่ 14 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่ง ยุทธพงศ์ ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนให้หลัง โดยเฉพาะก่อนถึงวันประกาศผลคัดเลือกนั้น มูลค่าหุ้นของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ ดิ่งต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จาก 10 บาท มาเป็น 8.05 บาท จนอาจมีผลกระเทือนต่อกิจการของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ อย่างรุนแรง

ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ความไม่โปร่งใสดังกล่าวนี้ ล้วนเกี่ยวโยงกับเครือข่าย ‘3 ป.’ และ ‘1 ช’ โดย 1 ช. หมายถึง สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการราชพัสดุ ที่เป็นผู้รับผิดชอบการคัดเลือก อีกทั้งยังเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ด้วย ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบคุม กปภ. และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ กลับปล่อยให้บริษัทฯ เสียเปรียบ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ EEC ย่อมมีส่วนรู้เห็นในความไม่โปร่งใสนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ยุทธพงศ์ ยังเน้นย้ำว่า พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้อย่างแน่นหนา และพร้อมจะเปิดเผยรายละเอียดที่ลงลึกกว่านี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะยื่นญัตติอย่างเร็วที่สุดภายในวันแรกที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ คือ 22 พ.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ ถือเป็นเพียง ‘น้ำจิ้ม’ เท่านั้น เมื่อเทียบกับข้อมูลในการอภิปรายฉบับเต็ม