ไม่พบผลการค้นหา
กกต.สมชัย มั่นใจ สนช.ไม่มีเหตุให้คว่ำกฎหมายลูกเพื่อยื้อเลือกตั้ง แนะ "บิ๊กตู่" อย่าหลงภาพความนิยมเพื่อสืบทอดอำนาจ

วันนี้ (1 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2561 ว่า หากมีการปลดล็อกการเมืองในช่วงเดือนเมษายน สิ่งที่อัดอั้นมานาน ก็จะพรั่งพรูออกมาในช่วงนั้น ทุกพรรคจะใช้ความพยายามสร้างคะแนนนิยม สร้างความได้เปรียบให้ไปถึงการเลือกตั้งให้ได้ ดูจากปฎิกิริยาของพรรคการเมืองพร้อมทำงานหนัก ต่อสู้กับอุปสรรค เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่พร้อมจะระดมสรรพกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ จากที่ถูกกดดันให้กลายเป็นพลัง ต้องจับตาดูว่าตั้งแต่เดือนเมษายนพรรคการเมืองจะใช้วิธีการอะไร พรรคใหญ่ก็คงจะไม่ยอมกัน ที่เป็นห่วงคือห่วงพรรคที่จะเกิดใหม่มากกว่า เพราะต้องสร้างการยอมรับ การสร้างความคุ้นเคย เพื่อจะให้มีกำลังเพียงพอไปแข่งขันในการเลือกตั้ง คิดว่าไม่ง่าย แม้จะมีแบล็คดีก็ตาม ต้องใช้เวลาพอสมควร

ส่วนที่มีการมองกันว่า เดือนเมษายนจะมีการย้ายพรรคของ ส.ส. ส่วนตัวไม่มองเช่นนั้น เชื่อว่าคนที่จะย้ายพรรคจะตัดสินใจในช่วง 90 วันก่อนการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดไว้เป็นคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเวลานั้นจะรู้ว่าใครได้เปรียบ เสียเปรียบ ใครจะได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นที่มีการโชว์ก่อนหน้านั้นถือว่าวัดอะไรไม่ได้เลย

ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดยังมองไม่ออก ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นมี 2 ปัจจัย คือ 1 กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เมื่อใด คาดว่าเร็วสุด คือเดือนมีนาคม ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม แต่หากประกาศช้าสุดคือเดือนมิถุนายน ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน เป็นไปตามโรดแม็ปของรัฐบาล แต่ปัญหาคือ หากกฎหมายลูกประกาศใช้เร็วพรรคการเมืองก็จะเตรียมตัวไม่ทัน

ปัจจัย 2 คือ กฎหมายลูกบังคับใช้แล้ว การที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไปขัดแจ้งกับคำสั่ง สคช.ที่ 53/2560 ที่กำหนดหลายเรื่องที่จะต้องทำให้เสร็จใน 180 วัน ซึ่งก็คือ 1 ตุลาคม ปัญหาคือถ้าเลือกตั้งมาเร็ว พรรคต้องมีการประชุมกัน และในท้ายคำสั่ง คสช.ได้มีการกำหนดว่า หากกฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าแนวการปฎิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ไปขัดหรือเป็นปัญหาอุปสรรค ก็ให้มีการหารือร่วมกันระหว่าง คสช. กรธ. กกต. และพรรคการเมือง เพื่อกำหนดไทม์ไลน์ที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้ง ฉะนั้นหากเลือกตั้งมาเร็ว ก็จะมีเสียงที่น่าจะมาจากพรรคเล็กว่าทำไม่ทัน ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่มีแนวโน้มเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รัฐบาลประกาศไว้

นายสมชัย ยังกล่าวถึง หน้าตาของการเลือกตั้ง ว่าถ้าหาก เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองแต่ละพรรคชูหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการหาเสียง แต่คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่หากมีคนกลุ่มหนึ่ง หรือพรรคการเมืองหนึ่งออกมาบอกว่าจะชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แล้วเกิดกระแสอีกพรรคชูไม่เอาคนนอกเป็นนายกฯ ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม

"เกิดการปะทะกันในเชิงความคิดอย่างรุนแรง เกิดการเมืองแบ่งฝ่ายชัดเจน จะเกิดกระแส เอาและไม่เอา พล.อ.ประยุทธ อย่างเช่นในอดีตที่มีกระแส เอาและไม่เอาทักษิณ ฉะนั้นการวางตัวของผู้นำรัฐบาลในขณะนี้ต้องวางตัวให้ดี อย่าทำตัวให้เป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม ถ้ามาจังหวะแรกจะกลายเป็นประเด็นต่อสู้กัน และบอบช้ำมากจบไม่สวย ควรจะมาในในจังหวะหลัง ที่พรรคการเมืองหาทางออกไม่ได้ในกระบวนการเลือกนายกฯ มาในฐานะวีระบุรุษกอบกู้สถานการณ์ ฉะนั้นท่าทีของผู้นำต้องชัดเจน วางตัวเป็นกลาง ไม่เป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง"

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ถ้าเอาประสบการณ์สมัยนายทักษิณมาเปรียบเทียบดู ทั้งการลงพื้นที่ ประชุม ครม.สัญจร อนุมัติงบฯเพื่อพัฒนาในพื้นที่นั้นๆ พบประประชาชน ผูกผ้าขาวม้า นอกกลางดินกินกลางทราย ซึ่งก็ได้รับความนิยมชมชอบมาก ไม่แตกต่างจากที่พล.อ.ประยุทธทำและได้รับความชื่นชม แต่อยากให้พิจารณาให้ดีว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง นายทักษิณถูกโจมตีแรงขนาดไหนกับกระแสการเอา หรือไม่เอาทักษิณ ฉะนั้นอย่างไปมองแค่ภาพ ว่ามีประชาชนมายมากให้การต้อนรับ แล้วเป็นแรงขับเคลื่อนเข้าสู่การเมือง ถ้าจะกลับมาก็ควรเป็นอย่างธรรมชาติ ไม่อยากให้แบ่งฝ่าย เพราะจะเป็นเกมส์ที่อันตรายเกินไป

เมื่อถามว่า จะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูก เพื่อยื้อเลือกตั้งได้หรือไม่ นายสมชัย เห็นว่าสามารถทำได้ แต่ถ้า สนช.ผ่านร่างกฎหมายแล้ว มีการโต้แย้งไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม ก็จะไม่ทำให้ระยะเวลาของการเลือกตั้งเลื่อนออกไปมากนัก แต่ถ้า สนช.ไม่รับรองหรือคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งกระบวนการเลือกตั้งน่าจะเลื่อนไปประมาณ 6 เดือน เพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการร่างฎหมายใหม่ อย่างไรก็ตามการจะคว่ำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เหตุผลต้องปรากฎชัด สังคมจึงจะยอมรับได้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ในตัวร่างกฎหมายจะมีการแก้ไขในหลายๆเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าจะไม่เอา เป็นลักษณะที่ว่าให้ลองไปทำดูก่อน ฉะนั้นจากสภาพดังกล่าวจึงมองว่า เนื้อหาที่ปรากฎต่อสังคมไม่น่าจะถึงขั้นรุนแรงที่จะคว่ำหรือล้มร่างกฎหมายนั้น

"วันนี้ถ้าไม่มีคลื่น ไม่มีลม แล้วไปถึงขั้นลงมติของ สนช. เกิดการคว่ำ ผมว่ามันเป็นพายุที่เกิดจากการกดปุ่ม หรือสร้างจากผู้มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งก็ต้องรับผิดชอบ และไม่รู้ว่าอารมณ์คนในสังคมเวลานั้นจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองบ้านเมืองที่จะเป็นฝ่ายประเมินเอง แต่ปลอดภัยที่สุดคือเดินความโรดแม็ป ระยะเวลาการเลือกตั้งจะเร็วหรือช้านิดหน่อยไม่เป็นไร น่าจะยอมรับกันได้"

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะเกิดพรรคทหาร นายสมชัยกล่าวว่า ก็มีมาตลอด ไม่ใช่ไม่เคยมี เช่นพรรคสามัคคีธรรม และพรรคมาตุภูมิ ก็มีระดับอดีต ผบ.ทบ. มาตั้งพรรค แต่อดีตที่ผ่านมาก็ชี้ได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากทหารไม่เคยอยู่ในจุดนั้น การที่มาอยู่ในการเมือง ก็ประมาทนักการเมืองมากเกินไป ซึ่งหากจะเกิดพรรคทหารขึ้นใหม่เขาก็อาจจะเอาประสบการณ์ที่เรียนรู้จากในอดีตแล้วมาปรับปรุงในการทำพรรคให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสีต่างๆหรือไม่ นายสมชัย เห็นว่าจากที่ดูการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย อารมณ์ของคนในสังคมยังมีความรู้สึกตรงนี้อยู่ เพียงแต่ในแง่ของการปะทะกันโดยตรง 2 ซีก ยังไม่มี เพราะเป้ากลายเป็น คสช. แต่ในอนาคตต้องดูว่า คสช.จะยังเป็นเป้าหรือไม่ หาก คสช.ไม่ใช่เป้า สองฝ่ายก็อาจจะกลับมาตีกันก็ได้