ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาถกญัตติ กมธ.ศึกษาก่อนโหวตร่าง รธน. 6 ฉบับ โดย 'วิรัช' แจงถ้ารีบโหวตไวจะทำให้ญัตติถูกคว่ำได้ ด้าน 'สุรชัย' พร้อมยินดีปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ ขณะที่ 'โรม' วอนรัฐสภาหนุนทุกร่าง รธน.

เวลา 09.50 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .. จำนวน 7 ฉบับ พร้อมแจ้งว่า ส.ว.มีเวลาพิจารณา 5 ชั่วโมงในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของร่างไอลอว์ ทั้งนี้ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ขอให้สมาชิกเร่งพิจารณา โดยในวันนี้ (17 พ.ย.) จะยุติการประชุมในเวลา 24.00 น. และไปอภิปรายต่อในวันที่ 18 พ.ย. จนกระทั่งเวลา 14.00 น. จึงเริ่มลงมติ ซึ่งน่าจะลงมติจบได้ในเวลาไม่เกิน 18.00 น.

ขณะที่ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เวลาของรัฐบาลทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง รวมกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการด้วย ส่วน ส.ว.นั้นได้เวลา 5 ชั่วโมง ขณะที่การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์นั้น ตัวแทนผู้เสนอได้เวลา 30 นาที ทั้งนี้ ขอให้พยายามพูดให้อยู่ในเวลาร่วมกันด้วย 

จากนั้น เข้าสู่การพิจารณารายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .. ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว

วิรัช พลังประชารัฐ ประชุมสภา_201117_9.jpg

'สุรชัย' ย้ำปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกฯ

โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า เรายังมีความไม่ชัดเจนในอำนาจของรัฐสภาว่า มีอำนาจเพียงแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัญหาต่างๆ สมควรจะต้องบัญญัติให้ชัดเจน ถ้าที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อนาคตเราจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก และจะสามารถช่วยกันพัฒนาหลักการสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบัน และถ้าคำตอบของกรรมาธิการฯ ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างชัดได้อย่างชัดเจน ตนมีความจำเป็นที่ต้องโหวตให้ความเห็นชอบสำหรับการแก้ไขรายมาตรา และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในฐานะที่เป็นส.ว.คนหนึ่ง ตนยินดีให้ความเห็นชอบการเสนอแก้ไขรายมาตราญัตติที่ 3-6 ที่พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภา ที่มีส่วนให้ความเห็นชอบนายกฯ หรือที่เคยพูดว่าปิดสวิตช์ ส.ว.

สุรชัย กล่าวอีกว่า ตนยินดีที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง และประเมินผลมาโดยตลอด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติให้มีมาตรา 272 ที่มาจากการประชามติผ่านคำถามพ่วง เพื่อให้มีการต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ นั่นคือ เหตุผลว่าทำไม ส.ว.ต้องยอมรับว่าต้องการให้ก้าวพ้นจากปัญหาเดิมๆ ผ่านกระบวนการปฏิรูปในช่วงบทเฉพาะกาล 5 ปี ดังนั้น ถ้าที่ประชมเห็นว่าบทบัญญัติตรงนี้ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูป ตนยินดีที่จะสละอำนาจส่วนตัวของตนในฐานะที่เป็นวุฒิสมาชิก 

"ยินดีที่จะสละอำนาจเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในมาตรา 270 ที่ท่านเห็นว่าไม่สมควรให้ส.ว.ทำหน้าที่นี้ และต้องการให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก ยืนยันว่าไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" สุรชัย ระบุ

สุรชัย กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของสมาชิกทุกคนนั้นขอความเป็นอิสระ อย่ากดดัน อย่าคุกคาม อย่าข่มขู่ เพราะเป้าหมายของพวกราตนเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แม้กระทั่งส.ว. เรามีเจตจำนงร่วมกัน คือ อยากเห็นประเทศชาติดีขึ้นกว่าเดิมผ่านกติกาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอฝากไปยังกรรมาธิการฯ ด้วยว่า ลำพังการแก้ไขไม่อยากที่จะให้มีแค่ครบทุกด้าน กรรมาธิการฯ น่าจะหาทางออกให้ด้วย สิ่งที่ตนเคยเสนอไว้คือ หากยังไม่ชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมาย เราไม่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดเกิดขึ้นโดยก้าวข้ามหลักกฎหมาย ดังนั้นขอเสนออีกครั้งคือ คืนอำนาจให้ประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประชุมสภา_201117_5.jpgรังสิมันต์ โรม ก้าวไกล ประชุมสภา_201117_9.jpg

'รังสิมันต์' ย้ำรัฐภาต้องโหวตรับทุกร่าง

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนเป็นเครื่องยืนยันว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังเผชิญกับทางตัน เพราะกลไกที่มีอยู่ล้วนมีไว้เพื่อค้ำจุนรัฐบาลและพวกให้เป็นรัฐบาลต่อไป ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การผ่อนคลายสถานการณ์ แม้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยรัฐสภาควรได้ทำหน้าที่ เพื่อให้มั่นใจว่า สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่สร้างความเกลียดชัง รัฐสภาต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ 1.สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เติมฟืนเข้ากองไฟผ่านการใส่ร้ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือประวิงเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความล่าช้า หรือดึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมาล้มกระดาน 

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. กว่าจะบรรลุเป้าหมายต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ก็อยู่สร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ จนครบวาระ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขรายมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. และ 3 .ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะต้องถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะคือพลังของประชาชนที่เห็นว่า การแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เมื่อเราผ่านหลักการ 3 ข้อนี้ได้ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกันอย่างมีสติ บนเนื้อหาและข้อเท็จจริง 

วิรัช ปัดตั้ง กมธ.เตะถ่วงโหวตแก้ รธน. หวั่นโหวตไวญัตติถูกคว่ำ

ด้านวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ สรุปรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้เกิดจากการที่สมาชิกอยากให้พิจารณาก่อนรับหลักการ หลายคนบอกว่าเป็นการยื้อเวลา ทำให้เสียเวลา ซึ่งไม่ได้เสียเวลา เพราะถ้าโหวตเมื่อวันที่ 24 ก.ย.แล้วไม่ผ่าน ญัตติต้องตกไป จะเข้าทางใคร ดังนั้น การเสียเวลาไปหนึ่งเดือนไม่ถือว่าเสียเวลา และการทำงานก็ผ่านมาด้วยดี อีกทั้งยังเป็นการรอร่างของไอลอว์ เพื่อพิจารณาไปพร้อมกันด้วย ซึ่งร่างของไอลอว์นั้นต้องรอฟังการชี้แจงของผู้เสนอก่อนว่าจะเป็นอย่างไร จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะผ่านหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง