ไม่พบผลการค้นหา
'สว.ดิเรกฤทธิ์' ยินดีกับรัฐบาลใหม่ แนะทำงานให้ดีสมความหวังประชาชน ขอบคุณ 'ประยุทธ์' อยู่นาน สร้างพื้นฐานให้ต่อยอดได้ ยังมองแก้ รธน. ใหม่ ไม่ต้อง สสร. เพราะมี สส. อยู่แล้ว ด้าน 'สว.เสรี' ชี้รัฐบาล 'เศรษฐา' ไร้ปัญหาหากไม่แตะ ม.112 บอกตอนนี้มีความในใจก็ให้เก็บไว้ก่อน ขอให้ประเทศเดินหน้าได้

วันที่ 25 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวยินดีกับ เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน จึงได้ฝากความหวัง ความสำเร็จของประเทศไว้กับนายกรัฐมนตรี แต่แน่นอนว่านายกรัฐมนตรีจะต้องแบกรับภาระของประเทศไทย จึงฝากข้อคิดให้กับนายกรัฐมนตรีในเรื่องความคาดหวังของประชาชน ที่ชนะเลือกตั้งมาจนกระทั่งรวมเสียง สส.ได้มาก และรัฐสภาได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 

"ปัญหาเรื่องคุณสมบัติความซื่อสัตย์ เราก็ผ่านให้เพราะเห็นว่าไม่ได้มีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ว่าเกี่ยวข้องกับคุณเศรษฐาโดยตรง ผมเอาใจช่วยความขับเคลื่อนบนความคาดหวังของประชาชนว่าอะไรจะทำได้ก่อน ถ้าเป็นไปได้ ก็ต้องอธิบายประชาชน" 

ส่วนเรื่องที่น่ากังวลก็มีอยู่บ้าง เช่น เรื่องควันหลงของการอภิปราย ควันหลงจากการตรวจสอบคุณสมบัติที่มีการกล่าวหา ยกหลักฐานว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต ถ้ามีการไปฟ้องศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เป็นหน้าที่ของ เศรษฐา และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ไม่ได้มีประวัติด่างพร้อยที่จะส่งผลต่อความไม่ไว้วางใจได้

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าหากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันแรกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ได้มีการพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อความชัดเจนด้วย ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขทั้งฉบับ 

"เราอาจจะไม่ต้องใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ใช้ สส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถที่จะแก้ไขรายมาตราได้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าอธิบายเหตุผลความจำเป็นความคุ้มค่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะได้รับการยอมรับให้ดำเนินการ" 

ดิเรกฤทธิ์ ยังกล่าวว่ารัฐบาลนี้ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของเสียงข้างมาก ในระบบประชาธิปไตยเราเคารพเสียงข้างมาก ปกครองโดยเสียงข้างมาก แต่ต้องให้ความสำคัญและรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย พร้อมขอชื่นชมความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลได้

พร้อมกันนี้ ดิเรกฤทธิ์ ยังกล่าวถึงดีลลับก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่องปกติ อาจจะเรียกว่าการดีลกัน การล็อบบี้กัน หรือการให้ข้อมูลกัน การประสานงานกัน ใช้คำไหนก็ได้ แต่สำหรับตนเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ในองค์กรมีสมาชิกจำนวนมาก ก็จะต้องใช้เสียงข้างมาก ประเด็นความไม่เข้าใจแต่ละฝ่ายก็จะต้องอธิบายกัน หรือแม้กระทั่งไปเชิญชวนกัน ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้มีประเด็นสำคัญ การล็อบบี้กัน มองเป็นเรื่องปกติและในระบอบประชาธิปไตยสามารถทำได้

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่ามีการแจกกล้วยให้กับ สว.นั้น ไม่ทราบว่าพูดเล่นหรือพูดจริง ซึ่งข้อกล่าวหานี้เคยมีในสภาผู้แทนราษฎร และอาจจะมาพาดพิงถึงสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งตนเองและสมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้มีการพูดคุยกันและคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องตลกมากกว่า ไม่สามารถเป็นความจริงได้ เพราะคนที่จะมาเป็นวุฒิสภา ต้องมีเกียรติภูมิ เกียรติประวัติ มีชื่อเสียงวงศ์ตระกูล สิ่งที่ทำมาจนมีอายุถึงขนาดนี้แล้วถ้าหากมาทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม และรับเงินเพื่อทำหน้าที่ให้ผิดเพี้ยนไป คิดว่าไม่มีใครทำ และคงไม่มีใครกล้าเสนอด้วย เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารไม่มีความลับใดในโลกอยู่แล้ว สุดท้ายถ้าทำผิดตัวเองก็จะมีมลทิน ชื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูลก็จะเสื่อมเสียไปด้วย

ส่วนที่เสียงโหวตของ สว. มีความแตกแยก จะเป็นอุปสรรคปัญหาในการทำงานในอนาคตหรือไม่นั้น ดิเรกฤทธิ์ มองว่า การทำงานในสภาคือการทำงานของคนที่มีความเห็นต่าง และอาศัยมติของเสียงข้างมากอยู่แล้ว จึงไม่เห็นว่าการที่มีความเห็นต่างกันจะเป็นความผิดปกติ นี่คือความงดงามแล้ว แต่ที่มีเสียงเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นเรื่องของการทำงาน เวลามีประเด็นที่ต้องลงมติ ก็มีการแลกเปลี่ยนกันอาจจะมีการไปเป็นกลุ่มก้อน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ จนทำให้ประชาชนเข้าใจเป็นลบ

"ผมคิดว่าประชาธิปไตยของเราไปได้สวยแล้วทุกคนเคารพกติกา แม้แต่ผู้ที่ทำรัฐประหารออกกติกาโดยการจัดให้มีการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และลงมาเล่น ในสนามเลือกตั้ง เคารพประชาชน ถึงเวลาก็ลง ก็วางมือ ให้พรรคที่จะสร้างเป็นสถาบันทางการเมือง สส.ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ต่างคนต่างเป็นผู้แทนประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ก็ดำเนินการร่วมกันตามกลไกปกติของประชาธิปไตย" 

"ทุกคนทั่วโลกกำลังจับตาดูอยู่ การลงทุน การท่องเที่ยว ต้องขอบคุณนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่นาน มีผลงานเยอะ ที่เป็นพื้นฐานไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็จะต่อยอดต่อไปได้ " ดิเรกฤทธิ์ กล่าว


'สว.เสรี' ชี้รัฐบาล 'เศรษฐา' ไร้ปัญหาหากไม่แตะ ม.112

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงการพบกันระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ดูเป็นบรรยากาศที่ดีที่เป็นการพูดคุยกัน ไม่ใช่การเผชิญหน้ากัน สำหรับการที่จะมีรัฐบาลในการบริหารประเทศ เรื่องของการสืบทอดอำนาจไม่น่าจะมี มองว่าเป็นการส่งต่ออำนาจกัน ซึ่งหากเป็นการสืบทอดอำนาจไม่รู้ว่าจะสืบกันอย่างไร อยากให้มองในแง่ดีไว้ก่อน เพราะการที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นมารยาทอยู่แล้วที่แสดงออกในการเป็นมิตรไมตรีต่อกัน

"ตอนนี้ให้ประเทศเดินหน้าไปก่อน เพราะประชาชนอยากจะเห็นรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ บางทีอะไรที่อยู่ในใจ อยากให้เก็บกันไว้ก่อน อย่าเพิ่งแสดงออกมาตอนนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลใหม่ทำงานไม่ได้เพราะมีแต่เรื่องขัดแย้งกัน ต้องให้โอกาสกัน"

ส่วนความเชื่อมั่นในโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล 'เศรษฐา 1' เสรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของการตกลงกัน และความร่วมมือของแต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อมีการตกลงกันแล้วก็ให้เป็นไปตามที่ตกลง คงจะดำเนินไปได้ด้วยดี

เมื่อถามว่านาทีนี้มองว่าเป็นทางลงจากหลังเสือของ คสช. และจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้วหรือไม่ เสรี กล่าวว่า เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในขณะนี้แล้วแต่ จะเป็นระดับไหนเต็มใบหรือครึ่งใบก็ตาม มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนตัดสินใจเลือกตัวแทนมาบริหารจัดการประเทศต่อไปอย่างน้อยที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

เสรี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมืองซึ่งอาจมองว่าเป็นจุดอ่อนส่วนหนึ่งก็ว่าได้ เพราะการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นความเห็นที่แตกต่างและการทำงานจะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งการทำงานร่วมหลายพรรคการเมืองเห็นมาหลายครั้งแล้วว่าในที่สุดก็เกิดความเปราะบาง หากเกิดความขัดแย้ง และแยกตัวกับรัฐบาลอาจอยู่ลำบาก 

"อยู่ที่พรรคการเมืองว่าจะเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างไร หากนำเสนอแต่นโยบายของพรรคตนเองมากจนเกินไปก็อาจกลายเป็นความขัดแย้งได้ และหากเป็นนโยบายที่ไม่สุจริตหรือซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมอาจมีความเห็นต่างขึ้นง่ายดังนั้นรัฐบาลใหม่ ต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต และสำคัญที่สุดคือการรักษาความสงบของบ้านเมืองอยากให้ใครมากระทำผิดต่อกฎหมาย"

เสรี ยังกล่าวว่า ที่รับปากว่าจะไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญด้วยก็จะสามารถทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ซึ่งหากผิดคำพูดหรือสนับสนุน กลุ่มที่จะแก้ไข ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องคำนึงถึงจุดเปราะบางในส่วนนี้ด้วย

ส่วนเสียงโหวตของ สว. ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่มีความแตกต่างกันมาก จะส่งผลต่อการทำงานของสว.หรือไม่ เสรี กล่าวว่าระยะเวลาของ สว. เหลือเพียง 10 เดือนเท่านั้น ดังนั้นผลการลงคะแนน นั้นผ่านพ้นไปแล้วในอนาคต หากไม่ทำอะไรที่ผิด สว. คงอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะหมดอายุ คงไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น