ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน ปฏิเสธตัวเลขตกงาน 8 ล้านคน ชี้ฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลอ้างอิง เผยอยู่ระหว่างเร่งรัดโครงการเยียวยา-ช่วยเหลือ ปชช. หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานทั้งในและต่างประเทศ

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงงานเสวนา "ฝ่ายค้านฟัง กลุ่มเปราะบางจากวิกฤตโควิด" เวทีที่ 1 ความเดือดร้อนแรงงานในและนอกระบบจากวิกฤติโควิด-19 ที่กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า ปัญหาคนว่างงาน เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยเป็นอย่างมากและที่ผ่านมาท่านได้เร่งรัดแก้ไขตามกลไกต่างๆ ของกระทรวง

"เรื่องคนตกงานที่มีการกล่าวว่ามีมากถึง 8 ล้านคน ขอชี้แจงว่าตัวเลขดังกล่าวไม่มีหลักฐานอ้างอิง ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือหัวหน้าผู้รับใช้แรงงาน มีความจำเป็นที่ต้องยึดถือตัวเลขจากระบบ เพราะจากข้อมูลแรงงานที่อยู่ในระบบผู้ประกันตนนั่นมีทั้งหมดตามมาตรา 33-39-40 มีประมาณ 16.3 ล้านคน และช่วงโควิด-19 ผู้ที่ประกันตนในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมได้รับชดเชยเงิน จากการว่างงานจริงๆ จ่ายเงินจำนวน 714,268 คน เป็นวงเงิน 17,224 ล้านบาท" รมว.แรงงานกล่าว

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการต่างๆ ในช่วงเดือน มี.ค. – ก.ค. ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของพี่ประชาชนคนไทย จึงให้กิจการที่เป็นที่สุ่มเสี่ยงปิดชั่วคราว และ ทางประกันสังคมก็จ่ายชดเชย 62% จำนวน 90 วัน เป็นจำนวน 9 แสนกว่าคน ที่ผ่านมา และบัดนี้สถานประกอบการต่างๆ กลับมาเปิดกิจการได้เป็นปกติแล้ว อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านสปา โรงหนัง โรงแรม กิจการต่างๆ อีกมากมายเกือบครบถ้วน

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ประเด็นที่ฝ่ายค้านระบุว่า รัฐบาลดูแลผู้ใช้แรงงานไม่ทั่วถึง และขาดมาตราการช่วยหางานใหม่ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการจ้างงานของรัฐ ที่มีการจ้างแล้ว 209,930 คน จากเป้าหมาย 410,415 คน

โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เตรียมใช้งบประมาณปี 2564 จ้างงานเพิ่มอีก 5,000 คน และที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มีหลักประกันที่ 3% ต่อปี ให้ผู้ประกอบการ วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อรักษาผู้ใช้แรงงาน ให้คงมีงานทำ โดยตนจะเข้าไปเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็ว หลังจากที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติจำนวน 63 รายสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8,158 คน คิดเป็นวงเงิน 387 ล้าน

รวมทั้งจะผลักดันศูนย์การงานแห่งชาติ ที่ตัวเองเป็นประธานนั่งกำกับด้วยตัวเอง เพื่อจัดหาตลาดงาน และจับคู่ตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานจัดหางานทุกจังหวัด ดำเนินภารกิจนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้ง ผลักดันเรื่องดิจิตอลแพลตฟอร์มแบบ One-stop platform "ไทยมีงานทํา" ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อรองรับแรงงาน 400,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังเป็นช่องทางยกระดับ ปรับทักษะให้แรงงานเพื่อเข้าสู่อาชีพที่ประชาชนสนใจคาดว่าจะเปิดให้บริหารสิ้นเดือน ส.ค.นี้ รวมทั้งเปิดตลาดในต่างประเทศ โดยตนได้นัดหมายพูดคุยกับสมาคมส่งคนงานไปต่างประเทศแล้ว

"รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชน และเร่งสร้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนเป็นการถอดเครื่องช่วยหายใจในห้อง ICU เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาด ดังนั้นข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำเสนอต้องขอบคุณมากๆ แต่อาจเป็นด้านเดียว ที่ยังไม่ครบถ้วน ทั้งที่เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องต้องมานั่งคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อให้ตั้งต้นตรงกัน ซึ่งผมยินดีเข้าไปรับฟังเพื่อช่วยกันทำงานแบบสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยกัน และพร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน" รมว. แรงงานกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: