เมื่อยุติกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ปรากฏว่ามวลชนบางส่วนที่มาร่วมกิจกรรมได้เดินทางอไปรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดงในช่วงเย็น และมีการสื่อสารกันว่าจะเดินทางไปยังบริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าประจำบริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก จุดระหว่างเส้นทางจากแยกดินแดงไปหน้ากรมทหารราบที่ 1
ก่อนหน้านี้ ถ้ายังจำกันได้ การรวมตัวชุมนุมบริเวณแยกดินแดงของกลุ่มมวลชนอิสระ ไร้แกนนำ หรือที่ถูกเรียกว่า ‘ม็อบทะลุแก๊ส’ เคยเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ถึงวันที่ 6 ต.ค. 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กำลังเข้าปราบปรามและเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแฟลตดินแดงทุกวัน วันที่ 6 ต.ค.2564 เหตุการณ์การปะทะกันนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมราว 100 รายโดยสวนใหญ่เป็นเยาวชน
อย่างไรก็ดี ‘สมรภูมิดินแดง’ มีผู้เสียชีวีตอย่างน้อย 2 ราย คือ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณหน้า สน.ดินแดง คืนวันที่ 16 ส.ค.2564 เสียชีวิตหลังรักษาตัวกว่า 2 เดือนในไอซียูของรพ.ราชวิถี เพราะถูกยิงเข้าที่บริเวณลำคอด้านซ้าย กระสุนยังคงค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด อีกรายคือ มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ถูกลูกหลงจากการสลายการชุมนุมของ คฝ.ยิงกระสุนยางใส่บริเวณศีรษะ เมื่อ 15 ส.ค. 2564 จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานกว่าครึ่งปีและเสียชีวิตเมื่อ 5 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ในการรวมตัวครั้งนี้พบว่า จำนวนมวลชนอิสระมีจำนวนน้อยลงกว่าช่วงปี 2564 ขณะที่ภายในพื้นที่การชุมนุมมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง และการเดินขบวนโดยสันติไปยังหน้ากรมทหารราบที่ 1 แต่ก็ยังถูกสกัดกั้น ส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีลักษณะของการช่วงชิงพื้นที่ก่อนถึงเวลารวมตัว มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยางในการสกัดกั้นการชุมนุม และเข้าระงับเหตุ มีการดำเนินการจับกุมซึ่งหน้า ตั้งด่านสกัดตามพื้นที่ต่างๆ และมีการดำเนินการออกหมายจับผู้ก่อเหตุในภายหลัง
เหตุการณ์ที่แยกดินแดงกลับมาปะทุอีกครั้งหลังจางหายไปกว่าครึ่งปี โดยในวันที่ 11 มิ.ย. พบว่ามีการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระที่จุดพุลไฟ จุดประทัด และขว้างปาขวดแก้วมายังแนว คฝ. ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดสีกากี พร้อมด้วยอาวุธปืนยิงกระสุนยาง โล่ และกระบอง รวมทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ได้จัดตั้งจุดสกัดที่บริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก รวมทั้งมีการกระจายตัวอยู่ในจุดอื่นๆ โดยรอบแยกดินแดง
ต่อมาเวลา 19.00 น. กำลังของเจ้าที่ตำรวจได้เคลื่อนตัวกระชับพื้นที่ทั้งสามด้าน ถนนวิภาวดีรังสิต-ถนนดินแดงมุ่งหน้าอนุสาวรีย์-ใต้ด่วนดินแดง โดยมีการฉีดน้ำสกัดผู้ชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยาง ทำให้มวลชนกระจายตัวออกไป ปักหลักอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ
19.20 น. พบว่ามวลชนกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปทุบทำลายและปาระเบิดเพลิง ใส่รถกะบะสายตวรจซึ่งจอดทิ้งไว้บริเวณใกล้กับทางลงอุโมงค์แยกดินแดง เจ้าหน้าที่จึงรีบเข้าระงับเหตุ ทันทีที่มวลชนเห็นเจ้าหน้าที่ก็กระจายตัวออกกันคนละทิศทาง ก่อนที่ตำรวจจะเคลื่อนกำลังกลับไปตรึงกำลังที่แยกดินแดงตามเดิม
ด้านสำนักข่าวราษฎรที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์การเข้าควบคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยกดินแดงไว้ พบว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่ มีประชาชนที่ออกมาสังเกตการณ์ได้ตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่รายหนึ่งยกปืนยิงกระสุนยางไปในทิศทางที่ประชาชนรวมตัวอยู่ ประชาชนจึงเข้าไปรุมต่อว่าด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนต้องถอยร่นไป
ขณะเดียวกันยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ เข้ามาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 นาย
เบื้องต้นมีรายงานผู้ถูกจับกุม 1 ราย เป็นชายวัย 55 ปีถูกควบคุมตัวไว้ที่สโมสรตำรวจ และโดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันเกินสิบคน กระทำให้เกิดความวุนวายในบ้านเมือง ก่อนจะได้รับการประกันตัวในอีกสองวันถัดมา
ในวันที่ 12 มิ.ย. พบว่ามีการประกาศนัดรวมตัวกันอีกครั้งที่แยกดินแดง โดยตั้งแต่เวลา 16.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งตั้งด่านสกัดตามเส้นทางต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่แยกดินแดง พร้อมสั่งการให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ พ่อค้าแม่ค้า ออกจากพื้นที่ควบคุมบริเวณแยกดินแดง
เวลา 16.40 น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานจำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังเกิดเหตุความไม่สงบเมื่อวานนี้ ตำรวจได้ปรับมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย หากยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย เพราะไม่อยากให้พื้นที่แห่งนี้ต้องกลายเป็น ‘สมรภูมิ’ มีการกระจายกำลังโดยรอบ 7-8 จุด โดยจะใช้มาตรการเข้มหากเกิดความรุนแรง ต้องบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่เริ่มเจรจาต่อรองจนถึงการดำเนินคดี โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวที่ดินแดงเป็นเด็กและเยาวชนเกิน 50% จึงฝากผู้ปกครองให้ดูแลอย่างใกล้ชิด
เวลา 16.50 น. พบว่า ‘เค ร้อยล้าน’ หรือคเณศ พิศณุเทพ เดินทางมายังบริเวณแยกดินแดงปรากฏตัวด้วยการสวมเสื้อสีเหลือง นั่งคุกเข่าชูพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหนือศีรษะ พร้อมตะโกนต่อเนื่องว่า "รักในหลวง รักพระเจ้าอยู่หัว" รวมทั้งต่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมว่า “เนรคุณแผ่นดิน” ต่อเนื่องประมาณ 3 นาที ก่อนจะลุกออกไปโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันไม่ให้ประชาชนเข้ามาทำร้าย และพาตัวเคออกจากพื้นที่โดยใช้รถของตำรวจ
ในช่วงค่ำ สำนักข่าวราษฎร ซึ่งติดตามถ่ายทดสดการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้บันทึกภาพ กลุ่มมวลชนผู้หญิงประมาณ 10 คน คล้องเเขนตั้งแนวเดินเข้าประชิดแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยกดินแดง มวลชนได้ตะโกนด่าทอการทำงานของเจ้าหน้าที่ราว 10 นาที ก่อนที่เจ้าหน้าที่ถอยร่นออกห่างจากกลุ่มมวลชน และปล่อยหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมพื้นที่อีกครั้ง โดยสั่งการให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปรวมตัวกันบนทางเท้า ก่อนจะควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเวลา 15 นาที
ในวันที่ 3 ของการนัดรวมตัวของกลุ่มมวลชนอิสระ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้ปฏิบัติการเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนถึงเวลานัดหมายของมวลชนเช่นเดิม และมีการเข้าควบคุมตัว ‘เอีย’ เยาวชนอายุ 13 ปี ซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นกระเป๋าแล้วพบว่ามีลูกแก้วอยู่ จึงนำตัวไปยัง สน.พญาไท ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในเวลา 18.55 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้บันทึกประวัติ และลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับสิ่งของที่พบในกระเป๋าของเยาวชนรายดังกล่าว แต่ไม่มีการตั้งข้อหา
ในช่วงค่ำของวันนี้ ไม่พบการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระ มีเพียงประชาชนที่มาสังเกตการณ์ และบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประชาชนจำนวนหนึ่งตะโกนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ
วันเดียวกันนี้ มีรายงานด้วยว่า ผู้ชุมนุมอิสระจำนวน 3 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน ได้เดินทางเข้ามอบตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมเมื่อ 11 มิ.ย. ทั้งนี้เยาวชน 2 รายได้รับสิทธิประกันตัว ขณะที่ผู้ชุมนุมอิสระอีก 1 รายอายุ 20 ปี ถูกศาลสั่งฝากขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
วันที่ 4 สถานการณ์ดินแดงยังเป็นเช่นเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนเกิดการรวมตัวของกลุ่มมวลชนอิสระ โดยในวันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามาร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ‘ยืนหยุดขัง’ มีการชูป้ายข้อความต่างๆ ทั้งวิจารณ์รัฐบาล และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยรวมตัวกันบริเวณทางใกล้แยกดินแดง
จากนั้นเวลาประมาณ 19.50 น. ประชาชนที่มารวมตัวกัน ได้ตั้งขบวนเดินถือป้ายข้อความต่างๆ มุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นไม่ได้เข้าสกัดในทันที
เมื่อขบวนเดินเข้ามาที่ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณก่อนถึงปั้ม Shell เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5-6 นาย เข้าสกัดไม่ให้ขบวนผ่านไปได้ และพบว่ามีการแย่งป้ายผ้ากันไปมาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นไม่นานมีกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาเสริมอีกราว 30 นาย และเข้ามาสมทบกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถสกัดการเดินขบวนและคุมควบพื้นที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตไว้ได้ มวลชนถอยร่นกลับไปบริเวณแยกดินแดงอีกครั้ง
ตลอดการเดินขบวนนี้ไม่มีการจุดพลุไฟ ประทัด หรือขว้างปาสิ่งขอแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเพียงการแย่งป้ายผ้า ตั้งโล่เป็นแนวกั้นสกัด และผลักดันมวลชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 22.50 น. พบว่ามีกลุ่มมวลชนอิสระ ได้รวมตัวกันยิงพลุไฟไปยังบริเวณที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังอยู่ที่แยกดินแดง มีการยิงพลุต่อเนื่องประมาณ 2 นาทีก็ถูกเจ้าหน้าที่โต้กลับด้วยการยิงแก๊สน้ำตา จนทำให้มวลชนอิสระสลายตัวไป ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าติดตามควบคุมตัว
วันนี้มีเพียงการรวมตัวกันของประชาชนที่มาสังเกตุการณ์ บริเวณริมทางเท้าใกล้แยกดินแดง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำการอยู่บริเวณแยก ทั้งนี้พบว่าประชาชนที่มารวมตัวกันได้เปิดเพลงสร้างความคึกครืน และจับกลุ่มนั่งคุยกันริมทางเท้า ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น. พบว่ามีมวลชนอิสระได้เข้ามาจุดไฟเผายางรถยนต์ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ประชาชนรวมตัวกันอยู่ จากนั้นไม่นานำพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายพร้อมรถจักยานยนต์ เข้ามาใช้ถังดับเพลิงฉีดเพื่อดับกองไฟที่ลุกไหม้อยู่
ไม่พบการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระ เนื่องจากตั้งแต่ช่วงเย็นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมมวลชน 13 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย โดยพาตัวไปควบคุมไว้ยังสโมสรตำรวจ มวลชนจำนวนหนึ่งจึงเดินทางไปรวมตัวกันบริเวณสโมสรตำรวจแทน เพื่อรอติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สำหรับผู้ถูกคุมตัวทั้ง 13 คนถูกตั้งข้อหาแยกเป็น 3 คดีจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง โดยมี 2 รายเดินทางมามอบตัวเอง เจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวหลังแจ้งข้อหาเสร็จ
ส่วนอีก 11 รายจะยื่นขออำนาจศาลฝากขังทั้งหมด ต่อมาวันนี้ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังทั้ง 11 ราย และไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวไว้ยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
สำหรับคดีความ 3 คดีประกอบด้วย คดีจากการชุมนุมในวันที่ 11 14 และ 15 มิ.ย. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดคดีทั้งหมดดังนี้
กรณีทุบและเผารถตำรวจ หลัง #ม็อบ11มิถุนา65 แจ้งข้อหาอีก 2 ราย
สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้านี้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาจากการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ไปแล้วทั้งหมด 4 ราย แยกเป็นเยาวชน 2 ราย โดยมีวัชรพล และจตุพล ที่ถูกขอฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนเยาวชนอีก 2 ราย ได้รับการประกันตัว
ในครั้งนี้ ได้มีณัฐพล อายุ 19 ปี ที่ถูกออกหมายจับในคดีนี้เข้ามอบตัวอีก 1 ราย โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ขณะที่มีพลพล อายุ 20 ปี ที่ต่อมาทราบว่ายังไม่ได้มีหมายจับ แต่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ด้วย ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 6 ราย
ทั้งณัฐพลและพลพล ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ต้องหา 4 รายแรก ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา กรณีของพลพลเนื่องจากไม่ได้มีหมายจับ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัว แต่ได้นัดหมายไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น
คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ11มิถุนา65 ดำเนินคดี 3 ราย
สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังไม่ได้มีการขอออกหมายจับหรือออกหมายเรียกผู้ต้องหา แต่เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาแสดงตัว ทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม 3 ราย ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, มาตรา 216 และ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พฤติการณ์กล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังจากการชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 โดยกล่าวหาว่าทั้ง 3 ราย ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวและร่วมก่อเหตุวุ่นวาย แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละรายมีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาอย่างไร
ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีนี้ตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวและขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดต่อ
คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ14มิถุนา65 ดำเนินคดี 9 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย
ในส่วนคดีจากการชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 9 ราย โดยมีจำนวน 8 รายที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับ ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ขณะที่มี ‘ไอซ์’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่อยู่ในรายชื่อที่ตำรวจจะดำเนินคดี ทำให้เข้าแสดงตัวเองและถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมจำนวน 2 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา ข้างต้นด้วย
ผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 4 ข้อกล่าวหา
1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 ประกอบมาตรา 138 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป
2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
4. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาในกรณีนี้โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกดินแดง อาทิการเขียนป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การเดินถือป้ายจากแยกดินแดงไปยัง พล.ร.1 และได้ทำกิจกรรมเรื่อยมา จนเวลา 22.48 น. ได้มีการยิงพลุไฟจำนวนหลายครั้งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณแยกดินแดง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ “จำเป็น” ต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 23.00 น.
ตำรวจอ้างว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ และมีทรัพย์สิน อาทิ กล้องวงจรปิดหรือกระจกป้ายโฆษณาเสียหาย ทั้งนี้ บันทึกข้อกล่าวหากรณีนี้ ตำรวจยังมีการเรียก “กลุ่มผู้ชุมนุม” ว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย” โดยตลอดด้วย
คดีเผายางรถ #ม็อบ15มิถุนา65 ดำเนินคดี 1 ราย
คดีสุดท้าย เกี่ยวเนื่องกับการเผายางรถยนต์ในการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 1 รายที่ถูกออกหมายจับ และเดินทางเข้ามอบตัว ได้แก่ พุฒิพงศ์ อายุ 25 ปี สำหรับหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565
พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 4 ข้อกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 217 (ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์), และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ธนเดช ศรีสงคราม หรือ 'ม่อน อาชีวะ' แกนนำอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นัดหมายทำกิจกรรมคาร์ม็อบที่หน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องความคืบหน้าในการตรึงราคาและปรับลดราคาน้ำมัน โดยได้นัดหมายกันที่สวนสมเด็จย่า 84 เขตจตุจักร ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน
ต่อมาเมื่อการเรียกร้องไม่คืบหน้า กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำการปิดเส้นทางสัญจรบนถนนวิภาวดีขาออก แล้วปล่อยให้รถระบายออกทีละน้อยในทุก 5 นาที ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมโล่และกระบอง ตั้งแนวปิดกั้นการจราจร ก่อนจะประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยกลับไปบนทางเท้าเนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย
เมื่อ คฝ.บุกเข้ากระชับพื้นที่ มวลชนราว 2-3 คน พยายามต้านแนวโล่ด้วยกำลัง ผู้ชุมนุมบางส่วนก้มลงกราบกับพื้นถนนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นใจในข้อเรียกร้องเรื่องราคาน้ำมัน
ท้ายสุด พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผู้กำกับสน.บางซื่อ ได้สื่อสารกับทั้งตัวแทนมวลชนและชุด คฝ. ขอให้ทั้งสองฝ่ายยอมล่าถอย จากนั้นมวลชนจึงยอมเคลื่อนขึ้นบนทางเท้า และชุด คฝ. สั่งเลิกแถว ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลาย และเปิดเส้นทางให้รถสัญจรได้ตามปกติ
วันนี้ไม่มีการประกาศนัดหมายชุมนุมอย่างเป็นทางการจากมวลชนกลุ่มใด แต่ยังคงพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้แนวทางปฏิบัติการในลักษณะเดิมคือ การเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนตั้งแต่ช่วงเย็น อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาทำกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง
16.30 น. มีการนัดรวมตัวของมวลชนเสื้อแดงจัดกิจกรรมเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังแยกดินแดง เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมทั้งขอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณแยกดินแดงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายยืนปิดล้อมพื้นที่บริเวณแยกดินแดงอยู่
โดยเวลา 19.30 น. ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง กลุ่มวัยรุ่นได้ข้ามถนนไปปาประทัดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ที่หน้าบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง ก่อนฝนตกลงมาอย่างหนัก
เวลา 20.13 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าจับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่บริเวณหน้าอาคารเพชราวุธ โดยใช้รถกระบะและรถตู้ ปิดถนนดินแดง มุ่งหน้าถนนราชปรารภ
หลังจากผู้ชุมนุมปักหลักเป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่า สื่อมวลชนและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องขอให้แยกย้ายเดินทางกลับ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีขว้างปาประทัด เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่พร้อมโล่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้สื่องดภาพถ่าย และกันออกจากพื้นที่ ขอให้สื่ออย่าพึ่งทำงาน
เวลา 20.20 น. มีเยาวชนหญิงรายหนึ่งเกิดอาการชักเกร็งอยู่บริเวณหน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนดินแดง มวลชนจึงจะเข้าไปดูผู้บาดเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาใช้โล่ดันมวลชนและสื่อออกจากบริเวณ และล้อมผู้บาดเจ็บไว้ ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามปฐมพยาบาล และโทรแจ้งสายด่วน 1669 จึงเกิดการต่อว่าเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่พอใจ
กระทั่งเวลา 20.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจถอยออกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ มวลชนจึงเข้าไปปฐมพยาบาล
ศูนย์ทนายความรายงานว่า มีผู้ถูกจับบกุมทั้งหมด 2 ราย เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี และ 18 ปี โดยทั้งสองถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา สำหรับหนุ่มวัย 18 ปี ตร. เตรียมขอฝากขังต่อศาลอาญา ส่วนเยาวชน จะนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ