ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ปฏิรูประบบการติดตั้งป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.เสียใหม่ เพื่อไม่ให้ท้องถนนเต็มไปด้วยขยะทางสายตาจากป้ายหาเสียงของผู้สมัครต่างๆ กระทบต่อการใช้ทางเท้าและการสัญจรของประชาชน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มี.ค.65 ที่ผ่านมา และจะกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ย.65 นั้น แต่เนื่องจากการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนเริ่มติดตั้ง “ป้ายหาเสียง” กันมากในบริเวณริมทางเท้าหรือฟุตบาท อันก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการสัญจร รวมทั้งการปิดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ยวดยานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งป้ายหาเสียงกับต้นไม้บริเวณทางเท้าหรือฟุตบาท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อต้นไม้ของกรุงเทพมหานครได้
ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในยุค 5G แล้ว การหาเสียงเลือกตั้งจึงไม่ควรให้ความสำคัญกับการทำ "ป้ายหาเสียง" ที่ต้องนำไปติดตั้งเกลื่อนสองข้างถนน แต่ควรไปหาเสียงด้วยระบบสารสนเทศจะดีกว่า ที่ผ่านมา "ป้ายหาเสียง" ตามระเบียบ กกต. มีมากถึง 3 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 : ขนาด 42 X 30 ซม.(พบบ่อยตามยอดต้นไม้-เสาไฟฟ้า)แบบที่ 2 : ขนาด 1.30 X 2.45 ม.(มักถูกพิง-มัดติดต้นไม้-เสาไฟฟ้า) แบบที่ 3 : ขนาด 4 X 7.5 ม.(ติดได้เฉพาะหน้าที่ทำการพรรค/กลุ่ม) ซึ่งยุคนี้ควรจะมีแบบที่ 1 เพียงแบบเดียวก็พอแล้ว
ทั้งนี้ตาม ม. 71 แห่งพรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น2562 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำได้ เฉพาะในสถานที่ รวมทั้งมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายกำหนด” ดังนั้นคำว่า “ในสถานที่” จึงไม่น่าที่จะหมายความถึงสถานที่เปิดทั่วไป บริเวณเสาไฟฟ้า ตามต้นไม้ เสาไฟจราจร ฯลฯ หากแต่หมายถึงสถานที่ที่เป็นจุดต่าง ๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายกำหนดเท่านั้น เช่น ป้ายคัตเอาท์ ตามถนนหรือสถานที่ภายในอาคารสาธารณธที่เหมาะสมเท่านั้น ดังตัวอย่างสถานที่ให้ปิดป้ายหาเสียงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำหนดขนาดของป้ายหาเสียงเพียงขนาดเดียวเท่ากรอบของบอร์ดคัตเอาท์ และกำหนดสถานที่ติดตั้งเป็นจุดๆที่เหมาะสมเท่านั้น
ที่ผ่านมาป้ายหาเสียงการเลือกตั้งมักก่อให้เกิดปัญหากับต้นไม้ของกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก ซึ่งย้อนแย้งกับนโยบายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน แต่ละพรรค/กลุ่มที่มักโฆษณาชวนเชื่อว่ารักษ์สิ่งแวดล้อม แต่แค่ติดตั้งป้ายหาเสียง กลับเป็นการเบียดบังทำลายต้นไม้ของกรุงเทพมหานครแล้ว เยี่ยงนี้จะให้คน กทม.เชื่อใจได้อย่างไรว่า เมื่อผู้สมัครเหล่านี้ชนะการเลือกตั้งแล้วจะปฏิบัติตามคำพูด ตามนโยบาย หรือตามกฎหมายได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด