ไม่พบผลการค้นหา
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) จับมือองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล จัดเวทีสาธารณะ ปัญหา นส.3 ทับเขตป่า จับตาคดีต้นแบบเพิกถอนโฉนดที่ดินเอกชนที่ได้มาไม่ถูกต้อง สู่แนวทางการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมโฉนดชุมชน แนะเร่งปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ตั้งธนาคารที่ดิน ด้าน

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) จับมือองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล จัดเวทีสาธารณะ ปัญหา นส.3 ทับเขตป่า จับตาคดีต้นแบบ เพิกถอนโฉนดที่ดินเอกชนที่ได้มาไม่ถูกต้อง สู่แนวทางการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมโฉนดชุมชน วอนกรมที่ดินไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองพรุ่งนี้ ด้านนักวิชาการเผย ปัญหาที่ดินทำสังคมไทยเหลื่อมล้ำสุดขีด พบคนเดียวถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ ขณะที่คนจำนวนมากกลับไร้ที่ทำกิน ย้ำ ที่ดินของรัฐ เป็นช่องให้จนท.ขูดรีดประชาชน แนะเร่งปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ตั้งธนาคารที่ดิน ด้านทนายความเจ้าของคดี สกต.ชวนจับตาการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองในวันที่ 19 นี้ระบุ ชาวบ้านต่อสู้เพื่อให้รัฐได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของแผ่นดิน ควรจัดสรรให้เกษตรกรและคนไร้ที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์มากกว่าปล่อยให้นายทุน ระบุหากกรมที่ดินไม่อุธรณ์คดีหากพ้น 120 วันแล้วชาวบ้านสามารถยื่นเรื่องเพิกถอนเองตามคำสั่งศาลได้ส่วนกมธ.ที่ดินฯ ขู่ หากคำพิพากษาของศาลให้กรมที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่เอกชนได้มาไม่ชอบ แต่ยังนิ่งเฉย เจอส่งป.ป.ช.แน่

ที่สำนักงานนักเรียนคริสเตียน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ร่วมกับองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (PI) จัดเวทีสาธารณะเปิดประเด็น “ นส.3 ทับเขตป่า จับตาคดีต้นแบบศาลปกครองเตรียมอ่านคำพิพากษา เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเอกชน สู่แนวทางการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมโฉนดชุมชน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้” โดยมี สุรพล สงฆ์รักษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความในคดีที่ชุมชนสันติพัฒนายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และปรานม สมวงศ์ จากโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สกต. จัดเสวนาปัญหาที่ดิน.jpg


สังคมไทยเหลื่อมล้ำสุดขีด พบคนเดียวถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ ขณะที่คนจำนวนมากกลับไร้ที่ทำกิน

วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยว่า สถิติจากกรมที่ดินเคยสำรวจไว้ พบว่า ประเทศไทยมีที่ดินรวม 320 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ออกเป็นเอกสารสิทธิ์ได้ 120 ล้านไร่ อีก 200 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ เช่น พื้นที่ชัน พื้นที่ป่าเขา หรือพื้นที่ทางทะเล อย่างไรก็ตามเมื่อไปดูตัวเลขในส่วนพื้นที่ที่ออกเอกสารสิทธิ์พบว่าในจำนวน 120 ล้านไร่ สัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่อยู่ประมาณ 3 ล้านคน และยังมีข้อมูลอีกว่า มีคนเพียง 1 คน ถือครองที่ดินมากถึง 6.3 แสนไร่ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน 

“ที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะนำมาเป็นฐานของทุนนิยม เป็นต้นทุนการผลิต คนที่มีที่ดินเพื่อการยังชีพจะถูกกดไว้ หรือ บีบบังคับไปสู่การถือครองกรรมสิทธิ์ที่สามารถแลกเปลี่ยนในตลาดได้ สุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์ที่ดินของแต่ละกลุ่มจะถูกดูดไปเป็นกรรมสิทธิ์ของคนกลุ่มเดียว คนที่มีทุนมาก ส่วนคนที่ใช้ชีวิตแบบยังชีพมีวิถีแบบในป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ และยังเป็นพื้นที่ที่รัฐประกาศทับอยู่” วิทยา ระบุ

วิทยา กล่าวว่า ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินของนายทุนนั้น ทำให้ที่ดินถูกทิ้งร้าง ที่ดินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะเป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร ซึ่งที่ดินไม่เหมือนทรัพย์สินอื่น เช่น เพชรนิลจินดาที่ไม่ว่าจะไปกองกับใครก็จะไม่ส่งผลกระทบกับคนอื่น แต่ที่ดินนี้ถ้าไปกระจุกตัวกับคนใดคนหนึ่ง จะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการกระจายที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้รัฐต้องใช้ความจริงใจในนโยบายเกี่ยวกับที่ดินที่อยู่ในมือของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สปก. ที่ดินอุทยานฯ ป่าสงวน กรมธนารักษ์ ซึ่งที่ดินเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สุจริต ไปขูดรีดชาวบ้านได้ 

“ปัญหาที่ดิน มาจากปัญหาของเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจออกไปสู่กลุ่มคน ท้องถิ่น ที่ยังกระจุกไว้ที่ส่วนกลาง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ ต้องใช้กลไกการปฏิรูปที่ดิน ใช้ระบบภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ใครมีที่ดินเยอะเสียภาษีเยอะ นอกจากนี้ยังมีระบบกรรมสิทธิของชุมชน โฉนดชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อมีภาษีเพิ่มขึ้นอาจจะมีนายทุน ปล่อยที่ดินออกมา และถูกนายทุนอื่นช้อนซื้อได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางธนาคารที่ดิน โดยธนาคารจะซื้อไว้เพื่อนำมาให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และต้องมีกองทุนยุติธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงเงินประกันตัวในการต่อสู้คดีที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งการปฏิรูปที่ดิน คือการจำกัดการถือครองที่ดิน ที่ผ่านมาในพ.ร.บ.ที่ดิน เคยมีการกำหนดการถือครองที่ดิน แต่ถูกประกาศคณะปฏิวัติปี 2502 ประกาศยกเลิก ถ้ายกเลิกประกาศคณะปฏิวัตินั้นได้ก็สามารถที่จะจำกัดการถือครองที่ดินได้”นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ระบุ


ช่องโหว่กม.ที่ดิน ไม่ให้โอกาสคนจน สกต. ชี้ศาลปกครองแถลงคดีโดยตุลาการ ให้กรมที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์ น.ส.3 ก ของ บ.ปาล์มน้ำมัน เป็นชัยชนะก้าวแรก

สุรพล สงฆ์รักษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดิน และกรรมการบริหาร สกต. กล่าวว่า สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 5 ชุมชน ในการเข้ามาตรวจสอบที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทาน หรือการอนุญาตให้บริษัทเอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งในการลงตรวจสอบของ สกต. พบว่าในบางพื้นที่ที่เป็นของรัฐมีบริษัทเอกชนที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นๆ แต่กลับบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเกือบ 40 ปี ในทางกลับกันชุมชนสันติพัฒนาซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของ สกต. ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในที่อยู่อาศัย และการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือสิทธิร่วมของชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 ต้องต่อสู้เผชิญหน้ากับบริษัทเอกชนซึ่งทำธุรกิจปาล์มน้ำมันที่เข้ามาบุกรุกในที่ดินในเขตของ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ถาวรของ กรมป่าไม้ จนไม่เหลือสภาพป่าเชิงประจักษ์ เพราะบริษัทได้ทำลายหมดไปนานแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าชุมชนประมาณ 100 ไร่ ที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาได้ร่วมกับปลูกขึ้นมาใหม่ในระยะ13-14  ปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา สกต. มีการเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบการใช้ที่ดินจนกรมสอบสวนคดีพิเศษ [ DSI ] และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่และพบว่า กรมที่ดินได้ออกเอกสารสทธิ์ น.ส.3 ก รับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับบริษัทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้กรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด 310 ไร่ แต่กรมที่ดินปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารที่ออกโดยมิชอบ จนกลายมาเป็นใบอนุญาตที่ให้บริษัทเอกชนฟ้องร้องสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาในข้อหาบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินหลายสิบรายต้องถูกดำเนินคดี และถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนหลายล้านบาท รวมถึงถูกสั่งให้ขับไล่ออกจากที่ดินดังกล่าวด้วย ในกรณีของชุมชนสันติพัฒนา บริษัทเอกชนที่มีข้อพิพาทคือบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกฟ้องในคดีศาลปกครองด้วย 

“แม้จะถูกเล่นงานจากกระบวนการยุติธรรม และการร่วมมือกันระหว่างรัฐและทุน ล่าสุด ศาลปกครองได้มีการแถลงคดีโดยตุลาการ ได้อ่านแนวทางของคดี สั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารที่ออกโดยมิชอบ เกือบทุกแปลงที่ชุมชนได้ร้องขอให้เพิกถอนไป และให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับว่าเป็นชัยชนะของชุมชนสันติพัฒนา นับเป็นก้าวแรก และเป็นหมุดหมายสำคัญในการตรวจสอบความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมมือกับนายทุนเอกชน และผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย และได้ผลักดันให้ทรัพยากรที่ดินของรัฐต้องถูกนำมากระจายการถือครองอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกรไร้ที่ดิน หรือคนจนได้ใช้ประโยชน์” ตัวแทนสกต.กล่าว

ทั้งนี้สิ่งที่ สกต. เรียกร้องคือ การปฏิรูปที่ดิน สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และคนจน ในการเข้าถึงที่ดินในฐานะเป็นฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานของเกษตรกร และการใช้แนวทางการบริหารจัดการร่วมกันภายใต้ระบบสิทธิร่วมของชุมชนในที่ดิน และฐานทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิต เพราะแนวทางนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถถือครองที่ดินได้อย่างมีความมั่นคงยั่งยืน สามารถปรับตัวและสร้างอำนาจต่อรองได้จริง


กมธ. เตือน กรมที่ดินถ้าไม่เพิกถอนกรรมสิทธิ์เอกชนถือครองไม่ชอบตามคำพิพากษาของศาล ระวังถูกร้อง ป.ป.ช.

สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่กมธ.ที่ดินฯมากกว่า 300 เรื่อง โดยพบว่าปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากนโนบายของรัฐที่ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินกิน มีด้วยกัน 3 กรณีคือ 1.การได้รับผลกระทบจากประกาศพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ทับที่ของชาวบ้านจนทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและมีเอกสารกรรมสิทธิเดิมคือใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น 2.การได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทับพื้นที่ดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่น กรณีของบางกลอย และพื้นที่เกาะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น กลุ่มอุรักลาโว้ย หรือกลุ่มมอร์แกนก็ได้รับผลกระทบในนโยบายนี้เช่นกัน และการได้รับผลกระทบจากกรณีที่ สปก. ออกประกาศพื้นที่ของสปก.ทับพื้นที่ของชาวบ้านอีกเช่นกัน โดยทั้ง 3 กรณีนี้แม้ชาวบ้านจะพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้เอกสารสิทธิ์มากแค่ไหนแต่กระบวนการของราชการก็เบียดขับให้คนตัวเล็กเข้าไม่ถึงระบบของการออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบธรรมอยู่ดี

กมธ.ที่ดินฯ ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการแก้ไขไปให้ประชาชนเพียงร้อยละ 5 จากเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทั้งหมด โดยอุปสรรคที่พบ คือ ความล่าช้าของระบบราชการไทย โดยเฉพาะการทำงานกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ที่ลำดับการทำงานทั้งระดับชาติ ระดับกลาง และระดับจังหวัด ซึ่งกว่าแต่ละกองจะประชุมกันและมีมติในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ นอกจากนี้พบว่าการพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านต่อการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินถือว่ามีอุปสรรคอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เพราะชาวบ้านไม่มีต้นทุนเหมือนกลุ่มทุน ซึ่งถือเป็นข้อเสียเปรียบในการพิสูจน์ในชั้นศาล และถือเป็นการเปิดช่องสำคัญในการเกิดคอรรัปชั่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มทุน

“เราเห็นข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการพิสูจน์พื้นที่เพื่อทำการออกเอกสารสิทธิ์จะเป็นกลุ่มทุนที่เข้าถึงข้อมูล มีทุนทรัพย์ และเข้าถึงเทคโนโลยีรวมถึงได้รับความร่วมมือจากความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้กลุ่มทุนได้เอกสารสิทธิ์ไปครอบครองก่อนทั้งๆที่เป็นพื้นที่เดียวกันกับของชาวบ้าน”สมชาย ระบุ

สมชายกล่าวว่า สำหรับกรณีของ สกต.นั้น หากศาลปกครองอ่านคำพิพากษาในวันที่ 19 มี.ค. นี้ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่ตุลาการแถลงคดีคือให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชนออกจากพื้นที่ของ สปก. ก็จะสามารถนำตัวอย่างการสู้คดีของ สกต. ขึ้นมาเป็นตัวตั้งในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของการออกเอกสารสิทธิ์ และหากกรมที่ดินไม่ทำการเพิกถอนโฉนดของบริษัทเอกชน ก็จะนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่ามีกระบวนการทุจริตเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ ว่าปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือสามารถแจ้งความเอาผิดกับอธิบดีกรมที่ดินได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สกต. จัดเสวนาปัญหาที่ดิน.jpg


ทนายความ ชวนจับตาการอ่านคำพิพากษา ชี้ชาวบ้านต่อสู้เพื่อให้รัฐได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของแผ่นดิน

ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความกล่าวว่า ชุมชนสันติพัฒนาถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องทางแพ่ง ขับไล่ชาวบ้านชาวบ้านออกจากที่ดินสวนปาล์ม เรียกค่าเสียหาย 2 คดี จำนวน 15,000,000 บาท และฟ้องอาญาข้อหาบุกรุกอีก 1 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีที่มีคนลอบสังหารชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ในที่ดินของสกต.อีก 1 คดีด้วย ทั้งนี้ในคดีแพ่งที่บริษัทเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้าน ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชาวบ้านชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,300,000 บาท และให้ออกจากพื้นที่ แต่ชุมชนได้ยืนยันไปแล้วว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นที่ของ สปก.

โดยคดีนี้มีความน่าสนใจตรงที่ สปก.เจ้าของพื้นที่ที่ ในตอนหลังได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่ได้ แต่ศาลในคดีแพ่งยังคงยึดหลักการเดิม โดยให้ บริษัทเอกชนมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ชาวบ้านได้ จึงกลายเป็นว่าเจ้าของที่ดินมีสิทธิน้อยกว่าบริษัทเอกชนที่มาละเมิดบุกรุกที่ดินของ สปก. ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทเอกชนที่เป็นคู่พิพาทเองก็ทำหนังสือในการยอมคืนพื้นที่ข้อพิพาทกับชาวบ้านให้กับสปก.แล้วด้วย ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลแพ่งได้ขับไล่บุคคลที่บริษัทฟ้อง 12 คนและบริวารออกจากพื้นที่ชุมชน สันติพัฒนา ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ได้ยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษว่าเขาไม่ใช่บริวารของทั้ง 12 คน และชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ของสปก. ที่บริษัทได้คืนให้กับสปก.แล้ว ซึ่งกำลังจะมีการไต่สวนการขอแสดงอำนาจพิเศษในวันที่22 มี.ค.ที่จะถึงนี้ และที่สำคัญบริษัทเอกชนไม่ใช่เกษตร ชาวบ้านเป็นเกษตรกรดังนั้นสิทธิของเกษตรก็ควรที่จะมีสิทธิในการอยู่ทำกินในพื้นที่ของสปก.

ส่วนคดีที่ศาลปกครองชาวบ้านฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินของบริษัทเอกชน ซึ่งศาลจะตัดสินในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.64) นี้นั้น ขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกับจับตากรณีที่ศาลปกครองจะอ่านคำพิพากษากรณีที่ชาวบ้านฟ้องเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทเอกชนจากพื้นที่สปก. ซึ่งเป็นนส. 3 ก จำนวน 10 แปลง และพื้นที่โฉนดที่ออกโดยมิชอบอีก 13 แปลงที่บริษัทถือครองอยู่ โดยคดีนี้เป็นคดีที่ชาวบ้านเขาต่อสู้เพื่อนำที่ดินคืนให้กับรัฐ 

“เราร้องขอให้รัฐเพิกถอนโฉนดเพราะเป็นที่ป่าไม้ที่บริษัทเอกชนได้มีการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบ ซึ่งหน่วยทุกหน่วยยังไม่มีการเพิกถอนจนนำมาสู่เรื่องของการฟ้องคดีปกครองซึ่งจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี และจะเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าบริษัทหรือนายทุนต่างๆที่บุกรุกป่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการที่จะเอาผืนป่าหรือที่ดินของรัฐกลับคืนมา และถ้าเห็นว่าป่าบริเวณนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมจะให้สปก.จัดสรรก็ควรเป็นชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรหรือคนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ไม่ใช่นำมาให้นายทุนถือครองในลักษณะนี้” ศิริวรรณ ระบุ

ศิริวรรณยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพรุ่งนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด พน้อมนส.3 ก จำนวน 10 แปลงซึ่งเราคาดหวังว่ากรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน หรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดจะไม่ดำเนินการในเรื่องการอุธรณ์คดีต่อศาลปกปกครองสูงสุด เพราะถ้ายังอุธรณ์อยู่เราจะไปขอบังคับคดีเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ก็จะต้องรอออกไปก่อน แต่ถ้าไม่มีการอุธรณ์และกรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิตามคำสั่งศาล เราก็จะนำคำสั่งของศาลปกครองไปแสดงต่อที่ดินเพื่อเพิกถอนเพราะในคดีนี้เราฟ้องทั้งอธิบดีที่ดิน กรมที่ดิน คณะกรรรมการตรวจสอบที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเรายังฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีด้วยที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงบริษัทเอกชน ถ้ามีคำพิพากษาที่ออกมาเป็นประโยชน์เราก็สามารถนำไปใช้ได้เลย และหากพ้น 120 วันที่จะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ตามที่ตุลาการผู้แถลงคดีได้เคยแถลงไว้ก็เป็นประเด็นที่เราสามารถดำเนินการได้เลยถ้ากรมที่ดินไม่มีการอุธรณ์