วันที่ 12 มี.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนา 'ยุติการลอยนวลผู้กระทำความผิด: หนทางยาวไกลของงานสิทธิมนุษยชนไทยเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย' อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน กล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 20 ปี กับการพยายามแสวงหาความจริงและความยุติธรรม ในกรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร
ในช่วงหนึ่ง อังคณา กล่าวว่า สมชายเป็นทนายความธรรมดา ๆ เกิดในครอบครัวชาวนา ไม่ร่ำรวย มีชีวิตที่พอกินพอใช้ เขาอาจแตกต่างจากทนายความคนอื่นตรงที่เขารู้สึกทนไม่ได้เมื่อเห็นคนไร้อำนาจถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เขาทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องคนที่ถูกรังแก โดยไม่กลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เวลาว่าความ สมชายไม่เคยคิดว่าลูกความของเขาถูกทั้งหมด แต่เขาเชื่อว่าคนที่ทำผิดก็ควรได้รับโทษตามความผิดที่กระทำ และพวกเขาไม่ควรถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ควรถูกทรมาน หรือถูกทำให้สูญหาย
"ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างไม่กลัวเพื่อปกป้องหลักกฎหมายและความยุติธรรม การตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ สมชาย ถูกทำให้หายไปจากชีวิตของคนหลายๆ คน"
อังคณา เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า การบังคับสูญหายเกิดขึ้นในทุกยุคสมัย ไม่ว่าในรัฐบาลประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เพราะการบังคับบุคคลสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนโยบายบางประการของรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลยังมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง และควบคุมสังคมไทย คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปกี่คน แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกลับสามารถลอยนวลได้ทุกยุคสมัย เติบโตในหน้าที่การงาน ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ ในขณะที่เหยื่อกลับมีชีวิตอยู่กับความไม่ปลอดภัย และการถูกข่มขู่คุกคาม
"ก่อนสมชาย นีละไพจิตร จะถูกทำให้หายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเรียกเขาว่า 'ทนายโจร' ไม่ต่างจากผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกหลาย ๆ คนที่ถูกกล่าวถึงว่า เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ก่อการร้าย หรือผู้เป็นภัยต่อรัฐ .. และคนไม่ดีก็สมควรที่จะหายไป"
อังคณา ชี้ว่า การสร้างภาพลวงต่อสังคมก็เพื่อให้ไม่ต้องรู้สึกผิดหากคนๆ หนึ่งต้องหายไป ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดคิดว่าเป็นชัยชนะ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าการกล่าวหาเช่นนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ อย่างมาก แม้เจ้าหน้าที่บางคนอาจเชื่อว่า ปัญหาจะหายไปหากคนบางคนหายไป แต่การอุ้มหายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้เรื่องราวการอุ้มฆ่าในประเทศไทยถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย เหยื่อหลายคนได้ลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ และรัฐไม่สามารถปิดบังความจริงได้อีกต่อไป
อังคณา ยังเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559 หรือ 11 ปีหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติงดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร โดยแจ้งเหตุผลด้วยวาจาว่า “เนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และหากไม่งดการสอบสวน จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ” และกรมสอบสวนคดีพิเศษยังยุติการคุ้มครองพยานแก่ อังคณา ด้วยเหตุผลว่าชีวิตของ อังคณา ไม่อยู่ในอันตรายใดที่ต้องให้ความคุ้มครอง
"ความรู้สึกของดิฉันในวันนี้ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษพยายามสลัดคดีสมชาย ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ"
อังคณา กล่าวต่อไปว่า วันนี้ ด้วยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของเหยื่อ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ความท้าทาย คือ แล้ว ที่ประกาศใช้ครบ 1 ปี จะช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างไร กฎหมายจะคืนความเป็นธรรม รวมถึงจะเปิดเผยความจริงเพื่อให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความคลุมเครืออย่างไร และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีท่าทีในการสืบหาความจริงคดีสมชาย และคดีอุ้มหายรายอื่น ๆ อย่างไร
ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของหลายหน่วยงานทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ในการใช้ พ.ร.บ. นี้ เพื่อยุติการทรมาน แต่เรายังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานเหล่านี้ในการตามหาคนหาย และคืนสิทธิที่จะทราบความจริงแก่เหยื่อตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. คือ ให้สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด
อังคณา ระบุว่า สิ่งที่ปรากฏทำให้เห็นว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย แต่ข้อท้าทายที่สำคัญ คือ กฎหมายจะถูกนำไปปฏิบัติได้อย่างไร หนึ่งปีของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีข่าวคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหาคนหาย ไม่มีคำมั่นสัญญา ไม่ให้ความหวัง ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีสมชายยังคงลอยนวล มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณะ โดยไม่มีความละอายต่อการกระทำผิด
"มีหลายคนถามดิฉันว่า คุณทักษิณกลับมาแล้ว พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ดิฉันและครอบครัวคนหายจะไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมไหม ถ้าจะให้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ดิฉันลังเลใจอย่างมาก ประการแรก ตั้งแต่รับตำแหน่งดิฉันไม่เคยได้ยินท่านนายก พูดถึงกรณีคนหายในประเทศไทย ประการที่สอง เมื่อมองไปที่เหยื่อ ดิฉันทราบว่าทุกครอบครัวอยู่กับความทุกข์ทรมานมายาวนาน มันสมควรไหมที่เราจะให้พวกเขาไปขอความเมตตาจากผู้ที่ไม่เคยเห็นความทุกข์ยากของเขา"
อย่างไรก็ตาม อังคณา เชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะครอบครัว จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และคุณค่านี้เองที่จะนำมาซึ่งการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและกองทัพ และประชาชนจะสามารถวางรากฐานของหลักนิติธรรมได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย