ไม่พบผลการค้นหา
ทุ่มงบพัฒนา 5 พันล้านบาท ด้านสิทธิมนุษยชนไม่ถูกพูดถึงมากนัก

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เป็นการพยายามสร้างอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาเหนือจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดการประชุมด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะทุ่มงบ 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 พันล้านบาท ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย การเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ และความพยายามอื่นๆ ที่มุ่งต่อต้านอิทธิพลของคู่แข่งอย่างจีน

“เราต้องยกระดับเกมของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“เราไม่ได้ขอให้ประเทศต่างๆ ตัดสินใจเลือกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่เราต้องการชี้แจงให้ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับอาเซียน”

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า การสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณสูงสุด 60 ล้านดอลลาร์ให้กับเรื่องความมั่นคงทางทะเล รองลงมาคือการสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยลดการใช้คาร์บอนของประเทศในอาเซียน เป็นเงิน 40 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินทุนด้านสาธารณสุขอีก 15 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยรับมือปัญหาโควิด-19 ส่วนเงินทุนที่เหลือจะใช้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและกฎหมายเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตามเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือประเทศในอาเซียนต่อสู้กับโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอด 3 ปี ด้วยงบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท


ผู้นำอาเซียนยังไม่มั่นใจที่จะเลือกสหรัฐฯ เหนือจีน

ในการประชุม แม้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะมีความกังวลเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับจีน โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่อาเซียนรู้สึกผิดหวังกับความล่าช้าของสหรัฐฯ ในการผลักดันแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคกับอาเซียนในปี 2560

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีความกังวลเช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับจีน แต่พวกเขายังคงระมัดระวังในการเข้าข้างหรือกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพราะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนที่ดีกว่ามาก ต่างจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่มีอย่างจำกัดกับสหรัฐอเมริกา

อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า "สหรัฐฯ ควรมีวาระการค้าและการลงทุนที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้นกับอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจและเชิงกลยุทธ์"

ด้านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า กัมพูชาจะไม่ "เลือกข้าง" ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง แม้ว่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในกัมพูชาจะเติบโตขึ้นก็ตาม


ไม่มีผู้นำเมียนมาร์ในการประชุมสุดยอดพิเศษสหรัฐฯ-อาเซียน

คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดนและผู้นำอาเซียนเห็นชอบที่จะวางเก้าอี้เปล่าในการประชุมเพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาที่ถูกโค่นล้มโดยคณะรัฐประหารนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเด็นสำคัญที่จะถูกพูดถึงในที่ประชุม และเก้าอี้ที่ว่างเปล่านั้นสะท้อนถึง “ความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและความหวังของเราสำหรับเส้นทางที่ดีกว่าในวันข้างหน้า” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าว

สหรัฐฯ สนับสนุนให้อาเซียนเปิดช่องทางที่ไม่เป็นทางการให้กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government หรือ NUG) ที่ต้องลี้ภัย ซึ่งเป็นแผนที่ถูกเสนอโดยประเทศมาเลเซีย แต่ถูกประณามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาในการประชุมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งนั้น เกิดข้อตกลง  ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาและปูทางสู่การเจรจา แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าผู้นำประเทศอาเซียนล้มเหลวที่จะทำตามฉันทามติที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาที่แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนและสหรัฐฯ หลังการประชุมสิ้นสุดลง ระบุถึงข้อกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมเน้นย้ำและเรียกร้องให้อาเซียนและเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียนอย่างทันท่วงทีและครบถ้วน เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา รวมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด


องค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามถึงผู้นำเผด็จการอาเซียนคนอื่นๆ

สำนักข่าววีโอเอของสหรัฐฯ รายงานในช่วงการประชุมเพิ่งเริ่มต้นขึ้นว่า นอกจากประเด็นเมียนมา การประชุมสุดยอดครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ประธานาธิบดีไบเดนต้องเผชิญ

ในขณะที่เขาพยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในอินโดแปซิฟิก กับภาพลักษณ์ของฝ่ายบริหารของเขาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำอาเซียนที่ทำเนียบขาว ไบเดนต้องรับบทเป็นเจ้าบ้านแสนดี ต้อนรับนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา ซึ่งปกครองประเทศมาเกือบ 4 ทศวรรษที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การกดขี่ และความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง

ผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ ต่างก็ท้าทายการส่งเสริมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ทั้งสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ ผู้ปกครองบรูไน ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2510 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่เข้ายึดอำนาจผ่านการรัฐประหารในปี 2557 รวมถึงลาวและเวียดนามที่เป็นรัฐเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียว

แม้แต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างอินโดนีเซีย ก็ยังมีข่าวลือว่าประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กำลังพยายามอย่างเงียบๆ ในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ ที่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม ในไม่ช้าเขาก็จะถูกแทนที่โดยเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของเผด็จการที่เป็นที่รู้จักที่สุดคนหนึ่งในเอเชีย

สำนักข่าววีโอเอรายงานว่า นักเคลื่อนไหวชี้ให้เห็นว่า การเชิญผู้นำเหล่านี้มาสหรัฐอเมริกา ฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังส่งข้อความว่าสหรัฐฯ จะยอมทนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของพันธมิตรเพื่อต่อต้านจีน

“เราจะได้เห็นภาพประธานาธิบดีไบเดนยืนอยู่ข้างผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเอเชีย... อย่างน้อยสิ่งที่เขาทำได้คือการเรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาและที่อื่นๆ เช่น เวียดนาม แต่จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นข้อความที่ชัดเจนจากทำเนียบขาว”

ซาราห์ เยเกอร์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์แห่งวอชิงตันกล่าวกับสำนักข่าววีโอเอ

“เป้าหมายของการประชุมสุดยอดจะไม่บรรลุผล หากสหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การรัฐประหารในปี 2564 ในเมียนมาร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสื่อมสภาพของสถาบันประชาธิปไตยในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และข้อเท็จจริงที่ว่า เวียดนาม ลาว บรูไน และกัมพูชาไม่เป็นประชาธิปไตยเลย”

กลุ่มสิทธิกล่าวในจดหมายถึงไบเดนก่อนการประชุมสุดยอดจะเริ่มต้นขึ้น

แม้บางฝ่ายจะมองว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะได้ตั้งคำถามและพูดคุยกับผู้นำประเทศอาเซียนเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนและสหรัฐฯ ในการประชุมที่เพิ่งจบไปครั้งนี้ พบคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ อยู่เพียงแห่งเดียวในรายละเอียดที่พูดถึงสถานการณ์ในเมียนมาเท่านั้น




ที่มา:

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/us-tells-southeast-asian-leaders-it-will-be-region-generations-2022-05-13/

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/with-china-focus-biden-plans-150-million-commitment-asean-leaders-2022-05-12/

https://www.voanews.com/a/empty-chair-for-myanmar-in-us-asean-special-summit-/6569185.html

https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/05/13/asean-u-s-special-summit-2022-joint-vision-statement/