ไม่พบผลการค้นหา
‘สว.เสรี-ประภาศรี’ ลุกวิจารณ์นโยบายแจกเงิน ไม่เห็นด้วยทำให้คนติดนิสัยแบมือขอจนอ่อนแอ ชี้ควรเอางบประมาณไปสร้างอาชีพให้ยั่งยืน พุ่งเป้าแก้หนี้ มากกว่าทุ่มเงินแจก

วันที่ 11 ก.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันแรก โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา สลับเปลี่ยนกันเป็นประธานในการประชุม

ในช่วงหนึ่ง เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ขอบคุณรัฐบาลที่มีความชัดเจน ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะเรามีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน อยากให้ยืนหยัด และดำเนินการตามที่แถลงนโยบายไว้ ส่วนเรื่องเงินดิจิตอล หวังว่าจะไม่ใช่นโยบายที่มาเพื่อดึงดูดคะแนนเสียง เมื่อถามว่างบประมาณจากไหน รัฐบาลก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่ามาจากภาษีอากร

“เงินใครๆ ก็อยากได้ แต่ต้องได้มาไม่ผิดกฎหมาย การใช้จ่ายของแต่ละคนใน 1 เดือน ส่วนมาก ใช้มากกว่า 10,000 บาทอยู่แล้ว เมื่อหมดก็เกิดความทุกข์อยู่ดี จึงขอเสนอความยั่งยืนให้ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพ หากใช้เงินขนาดนั้น ต้องนำมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จะได้เงินทุกเดือน และยั่งยืน” เสรี กล่าว 

ด้าน ประภาศรี สุฉันทบุตร สว. อภิปรายว่า ขอแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกท่านที่สามารถเข้ามาบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ในช่วงนี้ หวังว่าช่วงเวลาที่เหลือของวุฒิสภาที่มีอยู่ไม่มาก เราจะสามารถร่วมทำงานกับรัฐบาลอย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นนโยบายชัดเจนที่จะต่อสู้กับความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ มองว่าควรมีนโยบายที่พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขหนี้สินประชาชน มากกว่าจ่ายเงินลงไป ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน เพราะรัฐบาลอ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กำลังทำให้ประชาชนติดนิสัยรอรับเงินจนอ่อนแอ ไม่สามารถสร้างอาชีพความเป็นอยู่ได้เอง

“ สุดท้ายอย่าทิ้งอีสาน เพราะภาคอีสานมีการพัฒนาช้ามาก หลังจากพัฒนา ECC ทำให้กรุงเทพฯ เจริญขึ้นประชาชนก็จะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในจังหวัดที่เจริญ แล้วทำให้จังหวัดนั้นนั้นยากจนยิ่งขึ้น อยากให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ” ประภาศรี กล่าวทิ้งท้าย