ไม่พบผลการค้นหา
‘เซีย จำปาทอง’ เร่งรัฐบาลเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เลิกสืบทอดมรดก คสช. ทวงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำหายไปจากคำแถลง กลุ่มทุนผูกขาดขอร้อง หรือโดน รมต.กดหัว

วันที่ 12 ก.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ วันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

เซีย จำปาทอง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับแรงงาน ระบุว่า ตนผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาลอย่างยิ่งเพราะไม่มีนโยบายด้านแรงงาน ทั้งที่ตอนนายกรัฐมนตรีหาเสียงได้พูดถึงนโยบายแรงงานชัดที่สุดพรรคหนึ่ง เรื่องแรงงานเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน จึงอยากเรียนปัญหาของแรงงานต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งเรื่องค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพไม่ได้รับการคุ้มครอง, ไม่มีอำนาจต่อรอง และ ระบบประกันสังคมไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน

“ปัญหาค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 กว่าบาทในปัจจุบัน ปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าแรงควรมีมากกว่านี้ให้แรงงานสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้อยู่ได้ไม่ใช่ให้มีชีวิตอยู่แบบไพร่ทาสไปวันๆ ค่าแรงที่ถูกแช่แข็งโดยอ้างปัญหาโควิดปรับขึ้นครั้งละ 10 กว่าบาทไม่อาจเพียงพอต่อการดำรงชีพ”

ส่วนปัญหาการคุ้มครองแรงงาน ในปัจจุบันและกฎหมายแรงงานล้าสมัยอย่างมาก บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2541 ตอนนี้ปี 2566 แล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมของโลกมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น การผลิตปัจจุบันไม่เหมือนเดิม วันนี้การจ้างงานรูปแบบใหม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้อย่างเต็มไปหมด คนงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มทำให้สถานะการจ้างงานไม่ชัดเจน ปัญหาแรงงานอิสระที่รับงานผ่านผู้จ้างงานไม่ซ้ำหน้ากัน ปัญหาคนจ้างงานรับเหมาบริการภาครัฐ-เอกชนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆจากกฎหมายแรงงาน 

ส่วนปัญหาไม่มีอำนาจต่อรอง ขอเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ทุกสิ้นปีมีบางโรงงานปรับเงินเดือน ได้รับโบนัส ล้วนมาจากอำนาจการต่อรอง อำนาจการรวมตัวของแรงงานทั้งนั้น แต่เป็นส่วนน้อยในระบบแรงงานเพราะกฎหมายประเทศไทยริดรอนสิทธิของคนงานไม่ให้เสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองแรงงานปัจจุบันสามารถตั้งสหภาพได้เพียง 1.5% เพราะประเทศไทยยังไม่การรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัว เจรจาต่อรอง แม้ที่ผ่านมาจะมีการเรียกร้องจากองค์กรแรงงานและองค์กรสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ให้การรับรอง 

ส่วนประเด็นประกันสังคมไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน นายเซีย ระบุว่า ข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2566 ผู้ประกันตนมีมากกว่า 24 ล้านคน และมีกองทุนมากถึง 2.4 ล้านล้านบาท เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายต่อกองทุนประกันสังคมอีก 70,000 ล้านบาทเป็นจำนวนเงินเยอะมากที่รัฐยังค้างจ่าย

จึงอยากเรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าคณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันเป็นมรดกจาก คสช. หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการยกเลิกคณะกรรมการชุดเก่าและตั้งชุดใหม่ขึ้นมา และปัจจุบันมีการเลื่อนการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมมาครั้งแล้วครั้งเล่า และยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกันตนจะได้เลือกคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อไร 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงของจำนวนผู้ประกันตน ที่สมัครเข้ามาในช่วงขอรับเงินเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความเสี่ยงว่า ทำให้ในอนาคตจะมีจำนวนผู้ประกันตนลดลง ปัญหาความโปร่งใสในการนำเงินกองทุนไปลงทุน ปัญหาคุณภาพการรับบริการด้านสาธารณสุขของผู้ประกันตน ปัญหาไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แรงงานที่เป็นลูกจ้างในการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ เข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ 

“ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมด้วยครับ อย่าหลงดีใจได้ปลื้มกับมรดก คสช. จะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมผู้ประกันตนจะได้รับความเดือดร้อนไปมากกว่านี้พอกันทีกับบอร์ดมรดก คสช. ผู้ประกันตนทุกคนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือแรงงานข้ามชาติทุกคนต้องมีสิทธิ์เลือกตั้งตัวแทนของเค้าเองเพื่อให้ดูแลผลประโยชน์ของ ผู้ประกันตนให้ดีขึ้นสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามเจตนารมย์ของการก่อตั้งกองทุนประกันสังคม อย่าให้ผู้ประกันตนอยู่กับบอร์ดไม่ดี หนี้ไม่จ่าย เงินก็หาย ไม่ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีกเลย” เซีย กล่าว

เซีย ได้อ่านคำแถลงของพรรคเพื่อไทย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566 ที่เคยให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ที่มีการกล่าวถึงนโยบายด้านแรงงานไว้ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท , เงินดิจิทัล 10,000 บาท, สร้างงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง, ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค, ส่งเสริมการรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน, สิทธิลาคลอด, คุ้มครองสิทธิแรงงาน และรับรองอนุสัญญาแรงงาน แต่กลับมีในนโยบายของรัฐบาลเพียง 2 ข้อ คือเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท และยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เท่านั้น

เซีย ยังกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ว่าอย่าคิดลบนโยบายออกจากเพจของพรรค เหมือนบางพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงเมื่อปี 2562 ว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทแต่เมื่อทำไม่ได้ มีคนถามมากเข้าก็แอบไปลบออกจากเพจพรรค มันจะว้าวุ่นเอา พรรคท่านล้อพรรคอื่นมาเยอะ ขอเพียงให้เป็นคนที่รักษาสัญญาดำเนินงานตามที่ได้หาเสียงไว้เท่านั้น

เซีย ยังเผยว่า ประชาชนเคยเชื่อมั่นพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเหมือนที่เคยทำในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ เพราะบรรดาแกนนำพรรคต่างออกมาพูดตรงกันว่าสามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลับไม่มีเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในคำแถลงนโยบายจึงขอถามว่าใครสั่งให้ถอดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำออกจากคำแถลงนโยบาย 

“ท่านทำเองหรือกลุ่มทุนผูกขาดที่ร่วมโต๊ะอาหารเมื่อปลายเดือน ส.ค. ขอร้องท่าน หรือพรรคการเมืองที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงานที่มีลูกจ้างมากมายสั่งท่าน ท่านอย่ายอมนะครับ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี อย่ายอมให้รัฐมนตรีขี่คอกดหัวท่านเป็นอันขาด เสียชื่อนายกรัฐมนตรีหมด” เซีย กล่าว