ไม่พบผลการค้นหา
รองหัวหน้า ปชป. หวั่นเลือกตั้งไม่สุจริต เร่ง กกต.ประสานนายกฯ หลังออกมาให้ข่าวทำนองมีกลุ่มชวนประชาชนให้ทำบัตรเลือกตั้งให้เป็นบัตรเสีย ขณะที่ แกนนำพรรคเพื่อไทยท้วงติงกฎเหล็กห้ามพรรคใช้สื่อโซเชียลฯหาเสียง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ กกต. เชิญพรรคการเมืองเข้าประชุมปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในวันที่ 28 ก.ย.นี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเข้าร่วมประชุมโดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคนำคณะเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยหวังว่าการประชุมกับ กกต. ครั้งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนถึงแนวทางที่พรรคการเมืองต่างๆ จึงหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจน รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียงนั้น จะมีขอบเขตครอบคลุมแค่ไหนอย่างไร อะไรที่เป็นการหาเสียงก็ควรมีความชัดเจนเช่นเดียวกัน 

นอกจากนั้น ขอฝากไปยัง กกต. ชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการซื้อเสียง ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งไม่ปล่อยให้มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาร่วมด้วยช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีข่าวในลักษณะทำนองเชิญชวนประชาชนให้ทำบัตรเสียโดยวิธีที่แนบเนียนให้มากที่สุดและกาบัตรที่ไม่เลือกใครเลย หรือโหวตโนว่า ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปได้ข้อมูลมาจากไหน ทำไมจึงมีการเชิญชวนให้ทำบัตรเสียและโหวตโนล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่รู้วันเลือกตั้งที่แน่นอน

"การที่คนระดับนายกรัฐมนตรีนำข้อมูลเรื่องนี้มาพูดในที่ประชุม ครม. แสดงว่านายกฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีข้อมูลมากพอที่ทำให้นายกฯ วิตกกังวลว่าจะกระทบต่อการเลือกตั้ง จึงอยากฝากให้ กกต. ประสานเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจนทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต" นายองอาจ ระบุ 

'นพดล' ท้วงกฎเหล็กห้ามพรรคการเมืองหาเสียงผ่านโซเชียลฯ

ด้าน นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าขณะนี้ประชาชนก้าวข้ามการตอบโต้ทางการเมือง ไปสู่ประเด็นว่าแต่ละพรรคการเมืองมีจุดยืนทางการเมืองในเรื่องสำคัญๆอย่างไรเช่น การสืบทอดอำนาจ จุดยืนเรื่องประชาธิปไตย นอกจากนั้นประชาชนสนใจว่าแต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางและนโยบายในการแก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ และจะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองได้อย่างไร ดังนั้นจึงเชิญชวนให้แต่ละฝ่ายแข่งขันกันเสนอนโยบายตอบโจทย์ประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกพรรคใด ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งมีคุณค่า มีความหมายต่อส่วนรวมมากขึ้น และจะช่วยยกระดับการเมืองไทยไปอีกขั้นว่าเป็นการเมืองเอานโยบายนำ  

นายนพดล ระบุว่า ที่ตนยังไม่เข้าใจและเสียดายคือยังมีข้อห้ามมิให้ประชาชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและยังไม่สามารถไปพบปะประชาชนเพื่อมีกระบวนการจัดทำนโยบายอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนได้ แม้แต่พรรคจะสื่อสารจุดยืนและนโยบายในบางเรื่องผ่านออนไลน์ก็อาจถือว่าเป็นการหาเสียงตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ หวังว่าผู้มีอำนาจจะตระหนักในประเด็นนี้ และเปิดให้พรรคการเมืองได้ทำหน้าที่ ตนนึกไม่ออกว่าการทำและสื่อสารประเด็นนโยบายออนไลน์จะนำไปสู่ความวุ่นวายได้อย่างไร