ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืนวันนี้( 17 พ.ย. )ประมาณ02.00 น.จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. ด้านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชม ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย. ประมาณ02.00 น.เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ทั้งนี้ คืนเดือนมืดไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างมาก หากฟ้าใสปลอดเมฆดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืด ไร้แสงไฟรบกวนจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

 ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า ราชาแห่งฝนดาวตก

 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี ช่วงระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะเกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลาประมาณ 02.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง แม้ว่าในประเทศไทยจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกดังกล่าวในจำนวนไม่มากนัก และมีให้เห็นในปริมาณน้อย แต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศในอัตราเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้ในคืนดังกล่าว

สถานที่ในการชม ควรเป็นสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชม เนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี ส่วนการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าควรตั้งกล้องทางทิศไหน เนื่องจากกระจายทั่วท้องฟ้า ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง

ภาพโดย นายกีรติ คำคงอยู่