ไม่พบผลการค้นหา
'NDID' เปิดให้บริการ 'ระบบยืนยันตัวตนทางดิจิทัล' พิสูจน์ตัวตนและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลด้วยไฟล์ถ่ายและลักษณะทางชีวภาพทางดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการระบุตัวบุคคล ปธ. NDID ลั่นปลอดภัยสูง เพราะใช้บล็อกเชนมาบริหารจัดการ

เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอย่างเดียว การป้องกันการโจรกรรมที่พัฒนาพร้อมกันมาเป็นเงาตามตัวจึงต้องเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีใครแฮกเอาข้อมูลบัตรเครดิตของเราไปใช้จ่าย และธนาคารจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ลูกค้าที่กำลังทำธุรกรรมหนึ่งๆ เป็นผู้ถือบัตรเครดิตหรือเป็นเจ้าของบัญชีนั้นจริงๆ จึงเป็นที่มาของการเกิดระบบยืนยันตัวตน

ระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC (electronic-Know Your Customer) ถูกพัฒนามาจากพื้นฐานที่มี แต่เราเท่านั้นที่รู้ เช่น คำถามเมื่อเราลืมรหัสเฟซบุ๊ก อย่าง คุณเกิดที่โรงพยาบาลไหน หรือ สุนัขตัวแรกของคุณมีสีอะไร อย่างไรก็ตาม คำถามเหล่านั้นดูจะเป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยต่ำ เมื่อเทียบกับศักยภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะอาจไม่ได้มีเพียงคุณคนเดียวที่รู้ว่าคุณเกิดที่โรงพยาบาลไหน หรือสุนัขของคุณสีอะไร

ดังนั้น ระบบยืนยันตัวตนจึงต้องการสิ่งที่เฉพาะเจาะจงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่านั้น อาทิ ใบหน้า หรือ ม่านตา ของคุณ ที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ หรือ ปลอมแปลงได้ยาก

ระบบยืนยันตัวตน 4.0 

ในช่วงแรกที่มีการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ ผู้บริโภคหลายคนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงิน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ออกระบบการเข้ารหัสมาไว้ในแอปพลิเคชันธนาคารของตนกันหมด อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่เรื่องความปลอดภัยจากการเข้ารหัสยังมีอยู่ 

บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID (National Digital ID) ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาคมธนาคารไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จึงเกิิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน

งานธนาคารแห่งประเทศไทย

'สุธีรา ศรีไพบูลย์' รักษาการประธาน NDID กล่าวว่า ระบบยืนยันตัวตนดำเนินการภายใต้เทคโนโลยีบล็อคเชนที่มีความปลอดภัยสูง โดยใช้มาตรฐานความน่าเชื่อถือของลักษณะเฉพาะ (identity assurance level; IAL) ในเวอร์ชัน 2.3 ซึ่งเพียงพอในการใช้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน

อีกทั้ง ข้อมูลที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ของประชาชนจะไม่มีการรวบรวมไว้ที่ NDID แต่อย่างใด แต่ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ที่องค์กรแต่ละองค์กรที่เป็นผู้ดูแลข้อมูลนั้นๆ ของประชาชน และจะมีการแลกเปลี่ยนกันในระบบเมื่อมีการทำธุรกรรมที่ต้องการการยืนยันตัวตน

โอกาสใหม่ของธุรกรรมออนไลน์

ประโยชน์ทางธุรกรรมที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อโครงการนี้สามารถนำมาใช้ได้จริง คือความสะดวกสบายของประชาชน ปัจจุบันประชาชนหลายคนมีแอปพลิเคชันของธนาคารอยู่ในสมาร์ตโฟนอยู่แล้ว แต่การจะเปิดบัญชีธนาคารยังจำเป็นต้องไปทำที่สาขาของธนาคารนั้นๆ อยู่

ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการยืนยันตัวตนแบบใหม่ จะช่วยลดความยุ่งยากตรงนี้ไปได้และอนุญาตให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีผ่านสมาร์ทโฟนเพียงถ่ายรูปหน้าตัวเองยืนยันเข้าระบบ

ซูปเปอร์มาร์เก็ต-กูร์เม-เศรษฐกิจ-ธุรกิจ-ธนาคาร-ไทยพาณิชย์-ตู้จ่ายเงิน

เมื่อมีการพัฒนาและเชื่อมโยงอย่างทั่วถึง ระบบการยืนยันตัวตนนี้จะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกระบบของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งการเคลมประกัน การขอสินเชื่อ รวมไปทั้งการขอคำวินิจฉัยอาการจากแพทย์ 

ปัจจุบันระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง และคาดว่าจะเริ่มทดสอบให้บริการในวงจำกัด ภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ส่วนระยะเวลาการทดลองจำใช้เวลายาวนานแค่ไหนก็ต้องอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละธนาคาร รวมทั้งการทำตัวอย่างธุรกรรมที่ต้องมีอย่างน้อย 400 - 500 กรณี ต่อ 1 สถานการณ์จำลอง

แม้เทคโนโลยีมีการพัฒนาระบบให้ก้าวหน้าขึ้น และตัวระบบก็มีประโยชน์ต่อประชาชนและองค์กรต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถนำสิ่งดีๆ เหล่านั้นมาใช้ได้จริง ประโยชน์ที่แท้จริงก็คงไม่เห็นเป็นรูปธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :