วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนเป็นคนขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาสั้นๆเพียง 5 นาที เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจต่อเนื่อง และตนมีเรื่องต้องสอบถาม
พร้อมเปิดเผยว่าเรื่องที่คุยคือเรื่องการเตรียมการ ว่าหลังจากนี้มีอะไรที่ทำได้หรือไม่สามารถทำได้ โดยนายกรัฐมนตรี สั่งให้ตนเตรียมข้อมูล เพื่อชี้แจงให้ ครม.รับทราบ ทำได้หรือทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมีประสบการณ์ยุบสภาฯมาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งในการคุยกันมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ด้วย วิษณุ ยังระบุอีกว่า การพูดคุยในวันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 169 ซึ่งหากยุบสภาฯแล้ว ยังคงสามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ แต่ต้องขอความเห็นจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนการเริ่มต้นนับหนึ่งจะสามารถเริ่มต้นนับได้เมื่อใดนั้น วิษณุ กล่าวว่า จะเริ่มต้นเมื่อยุบสภาฯ หรือรัฐบาลอยู่ครบวาระ ซึ่งหากอยู่ครบวาระจะ ครบในเวลา 00.01 น.ของ วันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยวิษณุยังกล่าวว่า เงินเพิ่มเติมในการช่วยเหลือในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังคงสามารถทำได้ หากสามารถอนุมัติวงเงินงบประมาณก่อนวันยุบสภาฯ แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ระบุไว้ว่า จะอนุมัติโครงการหรืองานใด ที่ก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐบาลหน้าไม่ได้ เว้นแต่อยู่ในรายการงบประมาณ ซึ่งตนไม่ทราบว่าเรื่องอะไรอยู่ในรายการงบประมาณ
ส่วนมีการตั้งตุ๊กตาไว้หรือไม่ว่าจะยุบสภาช้าหรือเร็ว วิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้ังทั้งนั้นตุ๊กตา ตนไม่ได้สนใจว่าจะยุบเมื่อใด แต่ให้รู้ไว้ว่ามีผลกระทบ เนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียงเดือนเศษ เพราะอย่างไรสภาก็จะสิ้นสุดวาระอยู่แล้ว ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการ โดยการยุบสภาฯจะใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องเวลาของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถึงขั้นตอนการลงมาอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการยุบสภาฯไม่ต้องนำเข้า ครม.พิจารณา ซึ่งการยุบสภาจะมีผลต่อเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น
พร้อมกับยังระบุอีก การพูดว่ายุบสภาถือว่าไม่มีผลทางกฎหมาย พร้อมกล่าวอีกว่า ยุบสภาฯทั้งสภาฯจะให้นายกฯพูดได้อย่างไร ส่วนการออกข่าวก็เป็นเรื่องของสื่อมวลชน ไม่ได้หนักอะไรใคร แต่นี่คนทั้ง 500 คน หนักหมดเลยรวมไปถึง ส.ว.ด้วย เพราะหากยุบสภาฯ ส.ว.ไม่สามารถประชุมได้ และหนักไปอีกคือ ครม.ก็สิ้นสุดด้วย
ขณะเดียวกัน วิษณุ ยังกล่าวถึงรัฐบาลในอดีต สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยุบสภาฯแต่ไม่มีใครรู้ และวันรุ่งขึ้นยังมีการประชุม ครม. ซึ่งครม.ก็ได้มีการต่อว่าว่าจะมีการประชุมครมอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ปรึกษา ครม. พล.อ.เปรม จึงต้องเดินขอโทษ ครม. ทั้งคณะ ว่าจำเป็นต้องตัดสินใจ ไม่สามารถปรึกษาใครได้ เพราะตามกฎหมายเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีว่าได้ตัดสินใจไปแล้ว ตอนนี้ก็ตัวใครตัวมันกลับบ้านได้
ส่วนจะยุบสภาฯในเดือนกุมภาพันธ์คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่สามารถแบ่งเขตแม่เรียบร้อย ซึ่งกกต.ก็ระบุว่าสามารถทำได้แต่ต้องขอเวลา เพื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ทำไพมารี่โหวต เพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเนื่องจากการแบ่งเขตยังไม่แล้วเสร็จแตกต่างจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2562 รวมไปถึงการตั้งสาขาพรรค ดังนั้นหากจะให้ความสะดวกกับพรรคการเมืองขนาดเล็กต้องให้เวลาสัก 1-2 สัปดาห์ แต่หากไม่เห็นแก่พรรคเล็ก จะยุบวันที่ 1 มีนาคม ก็ได้ เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบไปแล้ว
เมื่อถามว่า ทางการเมืองต้องยุบสภาฯ ไม่อยู่ครบวาระใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยพูด ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ เพราะหากยุบสภาฯแล้วเหลืออีกไม่กี่วันครบวาระ จะมีคำถามว่าจะยุบสภาทำไม เมื่อถามย้ำว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องส่งสัญญาณก่อนยุบสภาหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ แล้วแต่นายกรัฐมนตรี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในอดีตสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการประกาศก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศออกมา นั้น วิษณุ ชี้แจงว่า เห็นการครั้งนั้นมีแรงกดดัน เหมือนกับสมัย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมสภาครบ 4 ปีแล้วบอกจะยุบสภาฯแต่ไม่ได้มีการประกาศว่าจะยุบวันใด และย้ำว่าเรื่องการยุบสภาฯไม่มีใครบอกใครได้ และเวลานี้คลื่นลมก็มีอยู่แล้ว อาจจะยุบสภาฯ เพียงแต่ยังหาวันเวลา ซึ่งเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี
ส่วนในฐานะเนติบริกรจะมีคำแนะนำวันยุบสภาฯให้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องใช้เนติบริกร แต่ต้องใช้โหร เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันธงชัย ถือว่าเป็นวันฤกษ์ดีในการยุบสภาฯหรือไม่ หรือเป็นวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายกรัฐมนตรี วิษณุ กล่าวว่า นึกไม่ออกว่าทำไมยุบสภาฯจึงต้องดูฤกษ์ จะดูฤกษ์ทำไม เพราะเมื่อยุบจะพาไปแล้ว จะเลือกตั้งเมื่อใดก็แล้วแต่ กกต. วันที่ควรจะดูฤกษ์คือวันเลือกตั้งต่างหาก เพราะจะรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย วันยุบสภาไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา
ส่วนกรอบการเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม ของ กกต.ถือว่าเป็นวันฤกษ์ดีหรือไม่ วิษณุ เปิดเผยว่า เป็นวันที่จำเป็น เพราะต้องเป็นวันอาทิตย์ และอยู่ในกรอบ 60 วัน ซึ่งหากนับจากวันสภาฯครบวาระ ก็จะลงล็อคในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งถ้านับก็จะได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม แต่ไม่ตรงกับวันอาทิตย์ และจะต้องให้มีเวลาหาเสียง ซึ่งถ้าจะให้เลือกตั้งใน 30 เมษายน ระยะเวลาการหาเสียงก็จะเหลือไม่ถึง 30 วัน ดังนั้นวันที่ 7 พฤษภาคมจึงถือว่าเหมาะสม ถูกโฉลก โชคชัย พิพัฒน์สวัสดี
โดยเมื่อผู้สื่อข่าวพูดหยอกล้อกับ วิษณุ ว่าในส่วนของ วิษณุ ลาก่อนใช่หรือไม่ นั้น วิษณุ ตอบกลับว่า จะให้ผมทำอะไรต่ออีก และเมื่อผู้สื่อข่าว ถามย้ำอีกว่าในวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นวันฤกษ์ดีหรือไม่ วิษณุ กล่าวหยอกล้อกับสื่อมวลชนว่า ฤกษ์สำหรับทำอะไรฤกษ์หย่าหรือ ก่อนจะบอกว่าไม่รู้เพราะตนไม่เคยเปิดดู เรื่องนี้ ส่วนที่นายกรัฐมนตรีชอบใช้เลข 21 วิษณุ ยังพูดหยอกล้อกับสื่อมวลชนอีกว่า นึกว่าท่านนายกรัฐมนตรีชอบเลข 22 เพราะยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557