ไม่พบผลการค้นหา
เปิดสถิติคนไทยใช้ ‘แบลงค์กัน’ ก่อเหตุเดือนละ 100 กระบอก เหตุดัดแปลงบรรจุกระสุนจริงได้ เข้าถึงง่าย ส่วนใหญ่ราคาไม่เกินหมื่น รัฐจ่อเร่งคุมเข้ม

จากกรณีเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า ใจกลางเมือง ย่านปทุมวัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย โดยผู้ก่อเหตุมีอายุเพียง 14 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจะทำให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามถึงมาตรการความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า สาเหตุต้นตอ หรือแรงจูงใจของการก่อเหตุ อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจเช่นกันคือ อาวุธปืนมาจากไหน 

หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้แล้ว มีรายงานว่า อาวุธที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนแบลงค์กัน Blank Guns) หรือ "แบลงค์ฟายลิ่งกัน" (Blank Firing Guns) ตามปกติแล้วอาวุธปืนชนิดนี้มักถูกนำมาใช้ในการถ่ายละคร ภาพยนตร์ การปล่อยตัวนักกีฬา หรือเป็นของสะสม เนื่องจากเป็นสิ่งเทียมอาวุธที่สามารถให้เสียง คล้ายเสียงปืนจริง และมีประกายไฟที่ปลายกระบอกปืนเวลาลั่นไก มีการคัดปลอกกระสุนออกมาจากตัวปืน แต่ไม่มีกระสุนวิ่งออกมาจากปลายกระบอก

อย่างไรก็ตาม แม้การออกแบบสิ่งเทียมอาวุธชนิดนี้จะมีการออกแบบมาเพื่อป้องกันการดัดแปลง แต่ก็ไม่เหนือกว่าศักยภาพของมนุษย์ที่พยายามจะดัดแปลง และทำให้สามารถบรรจุกระสุนจริงได้ มากไปกว่านั้นแม้จะยังไม่มีการดัดแปลง แต่ถ้านำแบลงค์กันมายิงในระยะประชิดก็สามารถทำให้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากยิงในจุดสำคัญ 

ทั้งนี้แบลงค์กัน สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยการซื้อตามหน้าร้านขายปืน และสั่งซื้อทางออนไลน์ มีราคาตั้งแต่ 6000 - 9000 บาท หรือ หลักหมื่นต้นๆ แล้วแต่รุ่น แล้วแต่ชนิด และการซื้อไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ เพียงใช้แค่สำเนาบัตรประชาชนให้ไว้กับร้านค้า สำหรับการลงบันทึกว่าปืนรายการนี้ได้ขายให้กับผู้ใดไปเท่านั้น ส่วนการควบคุมตามกฎหมายมีเพียงแค่ห้ามการพกพา การนำพา การใช้งาน เช่น ไม่สามารถพกพาไปโดยเปิดเผย หรือทำให้ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้ เพราะอาจจะมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นตกใจ และการนำพาไปยังสถานที่ต่างๆ ก็ควรจะเก็บไว้ในกล่องให้เรียบร้อย

พันตำรวจเอก ธนงค์ศักดิ์ บุญมาก นักวิทยาศาสตร์ (สบ4) กลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Police TV เมื่อปี 2565 โดยระบุว่าสถิติในแต่ละปี พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ก่อเหตุด้วยปืนแบลงค์กันประมาณ 1200 กระบอก เฉลี่ยมีผู้ก่อเหตุด้วยปืนแบลงค์กันเดือนละ 100 กระบอก โดยเป็นปืนที่ถูกดัดแปลงให้ใส่กระสุนจริงได้ประมาณ 70 % 

นอกจากนี้ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เคยทดลองยิงปืนแบลงค์กันใส่เนื้อไก่ เนื้อหมู กระหล่ำปี และแตงโม โดยที่ยังไม่มีการดัดแปลง แต่เป็นการยิงในระยะประชิด พบว่า สามารถสร้างความเสียหายแก่วัตถุดังกล่าวเป็นหลุ่มลึกลงไปประมาณ 5 ซม. ทั้งยังมีการรวบรวมข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า มีผู้ใช้ปืนแบลงค์กันยิงตัวตายสำเร็จมาแล้วหลายราย 

ล่าสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ประจำวันที่ 4 ต.ค. ถึงความคืบหน้ากรณีดังว่า ตำรวจได้ประสานไปที่กระทรวงมหาดไทย ขอให้ขึ้นทะเบียนปืนแบลงค์กันเป็นอาวุธ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงการซื้อขาย

“จากสถิติมีคดีที่ก่อเหตุจากปืนแบลงค์กันเพิ่มมากขึ้น และมีการนำเข้ามาในตลาดปืนเยอะมาก ซึ่งแรงอัดของปืนแบลงค์กันหากยิงแนบหัวอาจทำให้ถึงตายได้ หากนำไปดัดแปลงลำกล้องก็สามารถนำไปยิงกระสุนจริงได้เลย”

ผบ.ตร. ขยายเพิ่มเติมว่าการเข้าไปควบคุมสื่อโซเชียลที่สอนการดัดแปลงปืนแบลงค์กันสามารถทำได้ยาก ถ้าจะใข้ Single Gateway ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ตำรวจจึงใช้วิธีเข้าไปให้ข้อมูลว่าอันตรายอย่างไร เนื่องจากมีประชาชนเสพข้อมูลการดัดแปลงปืนจากช่องทางต่างๆเป็นจำนวนมาก

สำหรับรายงานอัตราการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนของประชากรทั่วโลกจาก World Population Review ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในปี 2565 แล้วจำนวน 2,804 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.91 คนต่อประชากร 1 แสนคน รั้งอันดับที่ 15 ประเทศที่มีประชากรเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนสูงที่สุดในโลก

ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกคือ บราซิล 49,437 คน คิดเป็นสัดส่วน 22.96 คนต่อประชากร 1 แสนคน ตามมาด้วยสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน 37,040 คน คิดเป็นสัดส่วน 10.96 คนต่อประชากร 1 แสนคน

ขณะที่ Small Arms Survey องค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธขนาดเล็กในสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่ข้อมูลจากการเก็บสถิติในปี 2560 พบว่า คนไทยครอบครองปืนทั่วประเทศอยู่ราว 10,342,000 กระบอก คิดเป็นสัดส่วน 15.1 กระบอกต่อประชากร 100 คน

ทั้งนี้คนไทยมีปืนอยู่ในครอบครองมากสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ มีปืนอยู่ในครอบครองของพลเมือง 3,977,237 กระบอก คิดเป็นสัดส่วนการครอบครองปืน 3.7 กระบอก ต่อประชากร 100 คน รั้งอันดับที่ 2 ในแง่ของจำนวนปืนที่อยู่ในครอบครอง ตามมาด้วยเวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และบรูไน ตามลำดับ

ขณะที่สหรัฐฯ มีการครอบครองปืนมากที่สุดในโลก โดยชาวอเมริกันมีปืนรวมกันทั่วประเทศ 393,347,000 กระบอก คิดเป็นสัดส่วน 120.5 กระบอกต่อประชากร 100 คน ส่วนไทยรั้งอันดับที่ 13 ของโลก

อ้างอิง

https://www.smallarmssurvey.org/database/global-firearms-holdings?fbclid=IwAR2hSDKZGV9aoy7CZMuhToR6Jpp8lbanIguoX4pA-XsZ-xK7FtsNMeExALA

https://worldpopulationreview.com/country-rankings/gun-deaths-by-country?fbclid=IwAR06stTtJ2TsLgClsq80BTNdaKZJNs4cZtlz4Mbv-B3fS7y7FBvs0mRbD7Y

https://www.youtube.com/watch?v=J3JJSXkaVZ0