ไม่พบผลการค้นหา
อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หาก ‘ประยุทธ์’ และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำเเหน่ง เพราะคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ คดี 'บ้านพักทหาร'

บ่ายของวันที่ 2 ธ.ค. 2563 จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะอยู่หรือไป เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์พักบ้านพักทหารหลังจากเกษียณอายุราชการพร้อมครอบครัวนานกว่า 5 ปี อีกทั้งยังไม่ได้ชำระค่าน้ำ - ไฟ 

หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดตามที่ถูกฟ้องร้องจริง หลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง 

‘วอยซ์’ สรุปให้ดูดังต่อไปนี้ 

  1. พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทันที 
  2. คณะรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีทั้งคณะ

แต่คณะรัฐมนตรีดังกล่าวยังทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 ได้กำหนดข้อห้ามสำหรับรัฐบาลรักษาการ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ เช่น

  • ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ
  • ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
  • ห้ามก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

ส่วนใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น ต้องรอรัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ จากบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่เหลืออยู่ 5 คนจาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ทั้งนี้ ส.ว. ยังสามารถเลือกนายกฯ ได้เช่นเดิม เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ส.ว. ร่วมกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่าง 5 ปีแรก 

หากศาลฯ ตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วมีผู้นำประเด็นการกระทำดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเข้าข่าย “ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม” ไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด เรื่องก็จะถูกส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป

ซึ่งสาระสำคัญของมาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 มีดังต่อไปนี้

  • ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
  • ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมีให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :