ไม่พบผลการค้นหา
‘รังสิมันต์' กระทู้สดกลางสภาฯ ซักเหตุสลายชุมนุม 16 ต.ค.-การปฏิบัติกับเสื้อเหลือง-ชะตากรรม ตร.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ช่วงชุมนุม ผิดหวัง รมต.ตอบไม่ตรงประเด็นใครสั่งสลายชุมนุม ด้าน รมช.กลาโหมแจงเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่อง การจัดการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) กลาโหม มาเป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดแทน

รังสิมันต์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงนับตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นกลางเดือน ก.ค. และ ต.ค. มีการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 3 ครั้ง คือ ช่วงบ่ายวันที่ 13 ต.ค. ,เช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. และช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ต.ค. โดยการชุมนุมของคณะราษฎรทั้งหมดไม่มีการประทุษร้าย การทำลายทรัพย์สินของราชการอย่างร้ายแรง และเป็นการชุมนุมที่พยายามลดผลกระทบต่อประชาชนเสมอมา จึงขอตั้งคำถามว่าการตัดสินใจสลายการชุมนุม ใครคือผู้รับผิดชอบสูงสุด และใช้เกณฑ์อะไรในการสลาย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เข้าหลักเกณฑ์อะไรบ้าง นอกจากนี้ หากการกระทำของทางเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุ จะมีการรับผิดชอบอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นทำไมยังมีการจับราษฎร แกนนำโดยใช้หมายจับที่สิ้นผลไปแล้วทำราวกับว่ากำลังใช้กระบวนการยุติธรรมที่ให้ผลร้ายกับผู้ชุมนุม

สำหรับคำถามที่สอง เป็นเรื่องมาตรฐานในการจัดการผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย ขอขอถามว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมโดยคนสวมเสื้อเหลืองใช้ทรัพยากรของสาธารณะไปกี่ครั้ง ครั้งใดบ้าง คิดเป็นเงินงบประมาณเท่าใด ทำไมการชุมนุมแต่ละฝ่ายถึงได้รับการปฏิบัติที่ต่างกัน มีการดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว และคำถามสุดท้ายถามแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยระบุว่า มีเสียงสะท้อนถึงชะตากรรมของตำรวจที่เข้ามากรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเบี้ยเลี้ยงที่ไม่พอจ่าย อาหารจัดเลี้ยงที่อาจมีการกินหัวคิว และไม่มีการจัดสถานที่พักผ่อนอาศัยให้อย่างเหมาะสมมีศักดิ์ศรี

สภา

'ชัยชาญ' แจงเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน -ยัน ตร.ไม่เลือกปฏิบัติ

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ให้ความยุติธรรมทุกฝ่าย รวมทั้งหากไม่ดำเนินการเจ้าหน้าที่ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐบาลตระหนักดีในเสรีภาพของการชุมนุม เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไม่กระทบสิทธิคนอื่น รวมทั้งเจ้าหน้ามีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคสอง โดยปกติมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ต่อมามีเหตุทำให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ในการตัดสินใจ ‘ขอคืนพื้นที่’ เนื่องจาก เหตุการณ์ในวันที่ 13 ต.ค. มีการชุมนุมซึ่งตอนเย็นมีหมายขบวนเสด็จ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปบนฟุตบาท มีการเจรจาทุกขั้นตอน แต่ทางผู้ชุมนุมมีการสาดสีใส่ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการทางกฎหมายตาม ป.วิอาญา

ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. การจัดเส้นทางขบวนเสด็จมีทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเส้นทางที่ใช้เหมาะสมที่สุด หากใช้เส้นอื่นจะไม่เรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งเส้นทางรองก็มีผู้ชุมนุมอยู่ ส่วนวันที่ 15 ต.ค. การดำเนินการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเช้า มีการดำเนินการมาชุมนุม เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยมีหลักปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอน ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีและตามประกาศชุมนุมสาธารณะ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ในตอนนั้นดูแลความเรียบร้อย

“ในส่วนของความรับผิดชอบ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้น โดยมีการประเมินสถานการณ์เพื่อให้กลับไปสู่ความเรียบร้อย ในวันที่ 13 ต.ค. ภาพที่ปรากฎคือมีการล้อมรถพระที่นั่ง ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่มที่ปกป้องสถาบันฯ เป็นความรู้สึกของประชาชนที่เคารพและเทิดทูนสถาบันฯ เมื่อ วันที่ 1 พ.ย. มีประชาชนมาร่วมรับเสด็จในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต คนที่มาร่วมพิธีไม่ได้เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ นอกจากนี้บางกลุ่มไม่ได้แจ้งมาชุมนุม แต่บางกลุ่มแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลตามกรอบกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่อย่างเท่าเทียม” พล.อ.ชัยชาญ ระบุ

สำหรับความคืบหน้าคดีการทำร้ายผู้ชุมนุมที่ ม.รามคำแหง มีผู้ร้องทุกข์ 5 ราย มีผู้ต้องสงสัย 10 คน มีหลักฐานว่ากระทำผิด 1 ราย วันที่ 6 พ.ย. จะต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนที่เหลือกำลังเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ

ย้ำต้องนำกำลัง ตร.จากต่างจังหวัด เหตุไม่เพียงพอ

ส่วนคำถามเรื่องการเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจากต่างจังหวัด พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีกำหนดแผนปฏิบัติว่าต้องใช้กำลังเท่าไหร่ ที่ต้องนำตำรวจจากต่างจังหวัดมาเพราะไม่เพียงพอตามแผน วิธีการปฏิบัติคือการต้องหมุนเวียนจากภาคต่างๆ เข้ามาและประเด็นที่ว่าอาหารเพียงพอหรือไม่ นโยบายของนายกรัฐมนตรีระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดูแลสิทธิและสิ่งที่พึ่งมีพึงได้รวมถึงขวัญกำลังใจของกำลังพล การปฏิบัติงานในรอบหนึ่งคือ 15-20 วัน และประเด็นที่ว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่นิ่งนอนใจ ประเด็นที่ว่าบางส่วนมีการเบิกจ่ายหรือไม่ ต้องตอบว่ายังไม่ได้เบิกจ่ายแต่เป็นการเบิกจ่ายด้วยงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน

สภา

ผิดหวัง รมช.กลาโหม ตอบไม่ตรงประเด็นใครสั่งสลายชุมนุม

จากนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในคำตอบของรัฐมนตรีมาก เพราะไม่ได้ตอบในคำถามที่ถาม เพราะสิ่งที่ถามคือ ใคร ชื่ออะไร เป็นผู้สั่งให้มีการสลายการชุมนุม และที่บอกว่ามีการกีดขวางขบวนเสด็จที่อ้างถึงนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ใน วันที่ 13 ต.ค. ซึ่งในวันนั้นมีสื่อปรากฏทั่วไปว่าไม่มีการขวางขบวน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีอำนาจไปสลายการชุมนุม เพราะจะต้องไปขออำนาจจากศาลก่อน ข้อเท็จจริงคือไม่มีการไปขอแต่อย่างใด อีกทั้งข้ออ้างที่บอกว่ากีดขวางเส้นทางเสด็จ ข้อเท็จจริงคือไม่มีการกีดขวาง

รังสิมันต์ ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่รัฐมนตรีตอบคือการบ้านที่เตรียมมา แต่ไม่ได้ตอบคำถาม เพราะที่ถามไปคือ เจ้าหน้าที่ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการสลายการชุมนุม เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อเจรจาแล้วก็ฉีดน้ำทันที จึงต้องถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ เพราะไม่เชื่อว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะสั่งการได้ ต้องมีอำนาจสั่งการที่สูงกว่านั้น และอยากให้กล่าวชื่อออกมาเลย