ไม่พบผลการค้นหา
ร้านอาหารในเครือของเชฟชื่อดัง ‘เจมี โอลิเวอร์’ เข้าสู่กระบวนการจัดการทรัพย์สินและฟื้นฟูหนี้ ซึ่งอาจกระทบกับพนักงานมากถึง 1,300 คน แต่ยังไม่กระทบสาขาในไทย

ร้านอาหารในเครือของเจมี โอลิเวอร์ เชฟชื่อดังชาวอังกฤษ อย่าง Jamie’s Italian 23 แห่ง รวมถึง Barbecoa และ Fifteen ในอังกฤษจำเป็นต้องตั้งให้บริษัทตรวจสอบบัญชี KPMG เข้าไปจัดการทรัพย์สินและฟื้นฟูหนี้ ซึ่งอาจกระทบกับพนักงานถึง 1,300 คน

ทั้งนี้ บริษัทเจมี โอลิเวอร์ โฮลดิงส์ ซึ่งดูแลก Jamie Oliver Limited และ Jamie Oliver Licensing Limited จะยังใช้ชื่อการค้าเดิม เช่นเดียวกับ Jamie’s Italian International Limited ซึ่งดูแลร้านอาหารสาขาในต่างประเทศ รวมถึงสาขาในไทยด้วย

เจมี โอลิเวอร์กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจที่เครือร้านอาหารของเขาต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้ และขอบคุณลูกค้าทุกคนที่อุดหนุนร้านอาหารของเขาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยร้านอาหารเครือ Jamie’s Italian เริ่มต้นขึ้นในปี 2008 โดยมีความตั้งใจว่าจะเข้าไปช่วงชิงตลาดร้านอาหารระดับกลางในในย่านยอดนิยมของอังกฤษ ด้วยค่านิยมที่ดีเยี่ยม วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงมาก มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีที่สุด และทีมที่มีใจรักในอาหารและบริการที่ดีเหมือนกับเขา

 เชฟชื่อดัง แต่ธุรกิจตามเทรนด์ไม่ทัน

เจมี โอลิเวอร์มีชื่อเสียงอย่างมากจากหนังสือ Naked Chef และรายการทำอาหารที่ฉายครั้งแรกในอังกฤษเมื่อ 20 ปีก่อน และยังมีรายการทำอาหารออกมาอย่างต่อเนี่อง และฉายในหลายประเทศทั่วโลก เขายังเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวให้คนกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้อาหารโรงเรียนมีประโยชน์ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

ธุรกิจของโอลิเวอร์ประสบปัญหาการแข่งขันสูงในตลาดร้านอาหารระดับกลาง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ร้าน Jamie's Italian และ Barbecoa ต้องปิดตัวลงไปหลายสาขา ในปี 2017 เขาปิดร้าน Union Jack สาขาสุดท้ายลงไป และปิดนิตยสาร Jamie ที่ทำมานานเกือบ 10 ปี

เมื่อปี 2018 ยอดขายของร้านอาหารในเครือ Jamie’s Italian ร่วงลงเกือบร้อยละ 11 มาอยู่ที่ 101 ล้านปอนด์ (4,106 ล้านบาท) ปิดร้านอาหารไป 12 สาขา และทำพนักงานตกงานไปประมาณ 600 คน และบริษัทก็เกือบล้มละลาย หากเจมีไม่ยอมควักเงินส่วนตัวถึง 13 ล้านปอนด์ (528 ล้านบาท) เพื่อพยุงกิจการเอาไว้

ไซมอน มิดลอฟสกี หุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย Gordons และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมด้านงานบริการระบุว่า ร้านอาหารเครือเจมีไม่สามารถตามเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ หากจะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เมนูอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงวิธีการปฏิบัติกับลูกค้า

มิดลอฟสกีกล่าวว่า ค่าเช่าที่สูงขึ้น ราคาอาหารที่แพงขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ต้องหาจุดแตกต่าง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แบรนด์เล็กๆ ที่มีอิสระและความยืดหยุ่นในการปรับให้ร้านมีความสดใหม่ตลอดเวลา จึงประสบความสำเร็จ

 ที่มา : BBC, The Guardian