ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทนิสสันในญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 9 ก.ย. แจ้งว่า 'ฮิโรโตะ ไซคาวะ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) วัย 65 ปี จะพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ก.ย.นี้ หลังคณะกรรมการอิสระตรวจสอบพบว่า ไซคาวะไม่ได้แจ้งข้อมูลเรื่องรับเงินปันผลเกินจริงประมาณ 47 ล้านเยน (ราว 440,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 14.5 ล้านบาท) เมื่อปี 2013 ซึ่งเกิดจากการลักลอบเปลี่ยนวันจ่ายเงินปันผล โดยเป็นการเลือกวันที่หุ้นของบริษัทอยู่ในจุดที่ทำกำไรสูงสุด ทำให้เขาได้รับเงินปันผลมากกว่าที่ควรจะได้
เอพีรายงานว่า ไซคาวะยอมรับเรื่องที่เขาได้เงินปันผลสูงกว่าที่ควรจะเป็น และเพิ่งจะแจ้งให้บริษัททราบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เขาพร้อมจะคืนเงินส่วนต่างและส่งต่อตำแหน่งประธานที่เปรียบเหมือน 'คบไฟนำทาง' ให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ พร้อมทั้งขอโทษผู้ถือหุ้น พนักงาน และลูกค้า ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไซคาวะยืนยันว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็นกับการเปลี่ยนวันจ่ายเงินปันผลเพื่อให้ได้ส่วนต่าง เพราะเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของ 'คาร์ลอส โกส์น' อดีตผู้บริหารเครือพันธมิตรธุรกิจนิสสัน-เรโนลต์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถยนต์ทั้งสองแห่งมานานเกือบ 20 ปี จนกระทั่งถูกปลดและถูกจับกุมในญี่ปุ่นด้วยข้อหา 'ประพฤติมิชอบทางการเงิน' เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
ยาสุฮิโระ ยามะอุชิ ประธานฝ่ายปฏิบัติการของนิสสัน เปิดเผยกับนิตยสารฟอร์บสว่า ไซคาวะจะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เพราะไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเขารู้เห็นกับการเปลี่ยนวันจ่ายเงินปันผล และการปกปิดเรื่องรับเงินปันผลสูงเกินจริงอาจเป็นเรื่อง 'ไม่เหมาะสม' แต่ไม่ถือว่าผิดกฎหมายญี่ปุ่น ส่วนคณะกรรมการบริหารบริษัทจะดำเนินการคัดตัวผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและลงมติเลือกประธานคนใหม่ไม่เกินเดือน ต.ค.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ของนิสสัน เพราะคดีความที่เกี่ยวพันกับ 'คาร์ลอส โกส์น' และ 'เกร็ก เคลลีย์' อดีตรองประธานฯ ยังไม่ยุติ ซึ่งข้อกล่าวหาที่ทั้งสองคนได้รับก็เกี่ยวพันกับความไม่ชอบมาพากลทางการเงินเช่นกัน
นิสสันถูกกล่าวหาจากอัยการสอบสวนคดีทางการเงินว่าแจ้งยอดรวมรายได้ เงินปันผล และผลประโยชน์อื่นๆ ที่โกส์นได้รับจากนิสสัน 'ต่ำกว่าความเป็นจริง' ติดต่อกันนานหลายปี ขณะที่โกส์นและเคลลีย์ถูกกล่าวหาว่าใช้ทรัพยากรและงบประมาณของบริษัทไปกับเรื่องส่วนตัว ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ราว 35,000 ล้านเยน (ประมาณ 350 ล้านดอลลาร์ หรือ 10,850 ล้านบาท) แต่ทั้งคู่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และระบุว่าทั้งหมดเป็นความพยายามจะโค่นอำนาจของพวกเขาในบริษัท
บีบีซีรายงานว่า โกส์นได้รับฉายา 'นักหั่นราคา' (Cost Killer) นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานบริหารบริษัทรถยนต์เรโนลต์ของฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 90 เพราะเขาใช้วิธีจำกัดงบประมาณ และตัดค่าใช้จ่ายที่เห็นว่าไม่จำเป็นเพื่อลดต้นทุน แต่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทได้จริง
เขาเป็นผู้ผลักดันให้เรโนลต์เข้าซื้อหุ้นของบริษัทนิสสันซึ่งเกือบล้มละลายเมื่อปี 1999 และการดำเนินการในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจช่วยฟื้นฟูสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองบริษัท จนกระทั่งปี 2016 นิสสันซื้อหุ้นจำนวนหนึ่งของมิตซูบิชิ ทำให้เครือข่ายธุรกิจขยายเป็น 3 แบรนด์รถยนต์ดัง
โกส์นได้รับรายได้และเงินปันผลจากทั้งนิสสัน มิตซูบิชิ และเรโนลต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย.2018 ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสเคยมีมติพิจารณาทบทวนเงินปันผลของโกส์นเช่นกัน ในฐานะที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นเรโนลต์ เห็นว่าผลตอบแทนที่โกส์นได้รับนั้น 'สูงเกินไป' หลังจากนั้นในเดือน พ.ย.ญี่ปุ่นก็จับกุมโกส์นด้วยข้อหาประพฤติมิชอบทางการเงิน โดยระบุว่าได้รับแจ้งจากคณะกรรมการไต่สวนอิสระของนิสสัน
แม้ว่าโกส์นจะได้รับการประกันตัวเมื่อเดือน มี.ค. 2019 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่น และถูกสั่งห้ามเก็บหนังสือเดินทางไว้กับตัว ส่วนเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจากกรณีของโกส์นและไซคาวะ ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรของนิสสันอย่างไม่มีทางเลี่ยง และบริษัทเองก็เพิ่งแถลงเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ว่า อาจจะต้องปลดพนักงานทั่วโลกอีกประมาณ 12,500 คนเพราะกำไรลดลงต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: