ไม่พบผลการค้นหา
"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" นำทีมช่วยผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงย่านบางโพ ระบุ เสียเปรียบพรรคอื่นที่ที่แคนดิเดตนายกฯ ช่วยหาเสียงไม่ได้ ลั่นหากได้เป็นรัฐบาล อย่าเรียกสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพราะมาตามครรลองประชาธิปไตย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรคพร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ย่านบางโพ ช่วย น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตเลือกตั้งที่ 7 ครอบคลุมพื้นที่เขตบางซื่อและแขวงถนนนครไชยศรีในเขตดุสิต ของพรรคหาเสียง โดยมีการรวมตัวที่ศูนย์ประสานงานเขตบางซื่อ-ดุสิตของพรรค ก่อนขึ้นรถแห่ไปตามซอยประชานฤมิตร หรือ ซอยโรงไม้ ที่ถือเป็นย่านการค้าสำคัญของบางโพพร้อมลงพื้นที่พบปะแกนนำพ่อค้าและประชาชนย่านการค้าในซอยโรงไม้ เพื่อพูดคุยนโยบายด้านเศรษฐกิจกับประชาชน

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพมหานครตอบรับเป็นอย่างดี โดยการหาเสียงจะมุ่งเน้นการอธิบายถึงความจำเป็นที่พรรค เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เพราะประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องได้ผู้นำที่เข้มแข็ง ต้องการความสงบ,มั่นคงนำสู่การแก้ไขปัญหา ประชาชนด้านต่างๆ และเชื่อว่า ชาวกรุงเทพมหานครเข้าใจว่าจะเลือกผู้นำอย่างไร 

นายพุทธิพงษ์ ยืนยันด้วยว่า การเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำให้พรรคได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น แต่กลับเสียเปรียบเพราะไม่สามารถมาช่วยพรรคหาเสียงได้จากข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยทางพรรคกำลังจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร สอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะทำอะไรหรือไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงของพรรค รวมถึงการดีเบตกับผู้นำพรรคอื่นๆ ในเวทีต่างๆ ด้วย

นายพุทธิพงษ์ ชี้แจงด้วยว่า หากพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย ย่อมไม่ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือเป็นเผด็จการ เพราะมาตามครรลองประชาธิปไตย ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นเผด็จการก็ไม่จำเป็นต้องลงสู่สนามเลือกตั้ง

ส่วนน.ส.ธณิกานต์ ระบุว่าการลงพื้นที่เขตเลือกตั้งนี้พบว่ามีชุมชนกว่า ร้อยละ 30 และมีผู้หญิงถึง ร้อยละ 80 ของจำนวนประชากร ซึ่งส่วนตัวเคยทำงานด้านความปลอดภัยของผู้หญิงมาอย่างต่อเนื่องในนามเอกชน หากได้รับโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภา จะผลักดันการเเก้ปัญหา การจัดสวัสดิการและยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนโยบายมารดาประชารัฐของพรรค ที่ให้ความสำคัญกับแม่ซึ่งจะเลี้ยงดูอนาคตของชาติให้มีคุณภาพได้ 

สำหรับการเลือกตั้งล่าสุดปี 2554 นายพุทธิพงษ์ ได้เป็น ส.ส.เขตนี้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และช่วงวิกฤตการเมืองก่อนมีการรัฐประหาร 2557 นายพุทธิพงษ์ เป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค แล้วเข้าเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส.ร่วมกับแกนนำและแนวร่วมคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายชุมพล จุลใส และนายสกลธี ภัททิยกุลที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ก่อนที่นายพุทธิพงษ์ จะทำงานการเมืองกับ คสช.และเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับอดีตแกนนำ กปปส.อีกหลายคนสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้