ไม่พบผลการค้นหา
ภาครัฐผนึกกำลังเตรียมพร้อมรับมือ การโจมตีระบบจากบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ ตลอดช่วงการเลือกตั้ง ด้าน 'เลขาฯ กกต.' ยืนยันกรณีประชาชนร้องจ่าหน้าซองเลือกตั้งล่วงหน้าผิด ความจริงไม่ใช่รหัสไปรษณีย์ แต่เป็นรหัสประจำเขต

วันที่ 9 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ร่วมแถลงข่าวการเตรียมการรับมือ และรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลในการเลือกตั้ง

โดย แสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ระบุว่า ทุกหน่วยงาน ทั้ง สกมช. สคส. บช.สอท. รวมถึงบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด หรือ NTPLC จะทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อสนับสนุน และกำกับบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต, ตาสัปปะรด และเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.

ซึ่งทั้งหมดนี้ ได้มีการจัดทำระบบป้องกัน ก่อนจะเปิดให้มีการลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า โดยได้เตรียมการไว้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 14 พ.ค. และขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงการเตรียมพร้อมข้อมูลสำหรับการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งขับเคลื่อนไปได้ด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ

ด้านเลขาธิการกกต. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานที่เกิดขึ้นนี้ มีหน้าที่หลักในการดูแลความเรียบร้อยของระบบต่างๆ รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา หากพบปัญหาขึ้น และเฝ้าระวังบุคคลที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาโจมตีระบบ ซึ่งทางบช.สอท. จะมีการประสานการสืบสวน ติดตามบุคคล เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ยืนยันว่า ในวันที่ 14 พ.ค ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจ ในการทำหน้าที่ของกกต. โดยกกต.ยึดหลักการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้กระบวนการทั้งหมด ประสบความสำเร็จ ประชาชนยอมรับ แม้ว่าสังคมขณะนี้ จะมีการตั้งคำถามกับกกต.ค่อนข้างมาก แต่ยืนยันว่า กกต.ได้ดำเนินการ ให้มีการแข่งขันของทุกพรรคการเมืองด้วยความเสมอภาค 

สำหรับข้อผิดพลาดที่พบในวันเลือกตั้งล่วงหน้า เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในวันเลือกตั้งทั่วที่ 14 พ.ค.นี้ และได้มีการเน้นย้ำไปในแต่ละจังหวัด ที่ที่จะต้องซักซ้อมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในเรื่องของการทำหน้าที่ รวมถึงการให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และจะให้ผอ.ประจำจังหวัดใส่ใจในการทำงานของกปน.อย่างใกล้ชิด 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากพรรคการเมือง ที่ทางกกต.ออกมาระบุว่า การดำเนินการค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าว เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง โดยยืนยันว่า กกต.สนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

โดยพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ โดยต้องแจ้งกับกกต.ล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นส่วนที่พรรคการเมืองจะต้องจัดการ หากพรรคการเมืองใช้งบประมาณที่กกต.จัดสรรให้หมดแล้ว ก็อาจมีช่องทางในส่วนของผู้สมัครในแต่ละเขต ให้ดำเนินการในส่วนของค่าใช้จ่ายนี้ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย 

สำหรับกรณีความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา เลขาธิการกกต.ชี้แจงว่า ข้อผิดพลาดทั้งหมดได้มีบันทึกไว้แล้วในทุกครั้งที่ผิดพลาดและมีการทักท้วงจากประชาชน โดยจะนำมาตรวจสอบอีกครั้งว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ต่อไป

ส่วนกรณีข่าวที่ปรากฏว่า มีประชาชนทักท้วงในเรื่องการจ่าหน้าซองผิดในวันเลือกตั้งล่วงหน้า เลขาธิการกกต.ยืนยันว่า การเขียนเลขหน้าซองที่ถูกประชาชนมองว่าเขียนผิด ในความเป็นจริงเป็นการเขียนรหัสประจำเขต ซึ่งเป็นคนละแบบกับการเขียนรหัสไปรษณีย์ โดยเลขรหัสในแต่ละเขต จะมี กปน.เท่านั้นที่รู้